ค้นหา

ต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน

 มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อสู้ขัดขวาง

ต่อสู้หรือขัดขวาง ต่อสู้ คือ ใช้กำลังขัดขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่สำเร็จ ขัดขวาง คือ การกระทำ เพื่อให้เกิดอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และไม่สำเร็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง

  • ขับรถปาดรถตำรวจเพื่อไม่ให้จับกุม
  • ดิ้นขัดขืนไม่ให้ตำรวจ ใส่กุญแจมือ
  • ผลักหน้าอกตำรวจในขณะเข้าตรวจค้นบ้าน

ฎีกาที่ 501/2537 เมื่อผู้เสียหายจับกุมจำเลยในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยดิ้นรนขัดขืนและชกหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้งจนฟันผู้เสียหายหักและมีโลหิตไหลออกจากปาก จำเลยจึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 296 อีกกระทงหนึ่ง

ฎีกาที่ 4045/2545 การที่จำเลยร่วมกันขับรถหลบหนีและพุ่งเข้าชนรถยนต์ของทางราชการจนเกิดการเสียหายนั้น จำเลยมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

กระทำต่อใคร? มีความผิดบ้าง

1. เจ้าพนักงาน หรือ
2. ผู้ซึ่งต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ผู้ซึ่งต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หมายถึง บุคคลที่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงาน เช่น สารวัตรกำนัน เป็นผู้ช่วยกำนันตามกฎหมาย “ราษฎรทั่วไป” ไม่ใช่ บุคคลที่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ดังนั้น การต่อสู้ขัดขวางราษฎรที่มาช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจในการจับกุม (โดยไม่มีเจ้าพนักงานอยู่ในบริเวณนั้นด้วย) จึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ตามมาตรา 138 (ต่างกับกรณี มาตรา 289 (3) ใช้คำว่า “ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน” ซึ่งรวมทุกกรณี แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องช่วย)
3. กระทำโดยเจตนา บุคคลจะต้องรับผิดต่อเมื่อรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด กล่าวคือ ผู้กระทำที่จะมีความผิดตามมาตรา 138 จะต้องรู้ว่าผู้ที่ตนเองต่อสู้ขัดขวางนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หากผู้กระทำไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้

ฎีกาที่ 148/2513 เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นตัวจำเลยในที่เปลี่ยวโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการตามหน้าที่ ทั้งนี้ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักกันมาก่อน จำเลยไม่มีทางรู้ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เช่นนี้ แม้จำเลยจะได้ทำการต่อสู้ชกต่อยขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจค้นเอาเงินทรัพย์สินใด ๆ ของจำเลยไปก็ตาม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ดังฟ้องโจทก์ไม่

ที่มา : ประมวลกฎหมายอาญา