ค้นหา

เมื่อถูกโกงแต่จ่ายเงินไปแล้วต้องทำอย่างไร

1. รวบรวมหลักฐานทั้งหมด แชทหรือข้อความที่คุยกันและสลิปการโอนเงิน (อันนี้สำคัญมาก) และเตรียมเอกสารเบื้องต้น ได้แก่

  • เตรียมเอกสารบัตรประชาชนของผู้แจ้ง/ผู้เสียหาย
  • หน้าประกาศ/ข้อความโฆษณาขายสินค้าใน Web Board , Page , facebook instagram,Line ที่โพสต์ขายสินค้าและทำให้หลงเชื่อ
  • หลักฐานการโอนเงิน เช่น สลิปโอนเงิน,statement,mobile banking
  • หลักฐานในการติดต่อซื้อขายสินค้า พูดคุยต่างๆ เช่น ข้อความแชท(chat) ที่สั่งซื้อสินค้า , หมายเลขโทรศัพท์ , ข้อความ(sms) , email address ,Line ,messenger facebook เป็นต้น
  • (ถ้ามี) ข้อมูลผู้ขายสินค้าหรือผู้ร่วมขบวนการ เช่น ชื่อสกุล , หมายเลขบัญชีธนาคารที่โอนเงินไปให้ , หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ,ที่อยู่ เป็นต้น
  • (ถ้ามี) หลักฐาน/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี

2. แจ้งความออนไลน์ที่เว็บ thaipoliceonline.com เว็บนี้เท่านั้น (ไม่มีแจ้งความออนไลน์ในเพจอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด)แจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ (โอนเงินที่ไหนให้ไปแจ้งความที่นั่น) *แจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ต้องการดำเนินคดีตามกฎหมาย” ไม่ใช่ขอลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน 

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความแล้วจะดำเนินการ ดังนี้

  • ถ้าแจ้งความออนไลน์ไว้เจ้าหน้าที่จะโทรนัดหมายสอบปากคำหลังแจ้งความ
  • ถ้าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจและเจ้าหน้าที่ลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความดำเนินคดี (สามารถขอคัดถ่ายสำเนาได้)
  • เจ้าหน้าที่สอบปากคำผู้แจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดพฤติการณ์ในคดี
  • ออกหมายเรียกเจ้าของบัญชี ที่ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ มาสอบปากคำ ถ้าไม่มาตามหมายเรียก 2 ครั้ง จะเป็นเหตุตามกฎหมายเชื่อว่าจะหลบหนี และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อออกหมายจับ

3. ถ้าผู้เสียหายหลายคน ให้นัดรวมตัวกัน 5-6 คน ไปกองปราบหรือไปแจ้งความ เพราะจะทำให้เป็นคดีฉ้อโกงประชาชน (คดีอาญาแผ่นดินรับโทษหนักขึ้น)

4. ถ้าหากผู้หลอกพยายามหาข้ออ้างต่างๆ นานา เช่น

  • เอาเงินไปหมุน/โดนคนอื่นโกงมาอีกที รอเขาคืนเงินให้ หรือข้ออ้างอื่นๆ ไม่ควรรอ เนื่องจากอายุความร้องทุกข์ตามหลักกฎหมาย ต้องแจ้งความดําเนินคดี ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่ทราบเรื่องและรู้ตัวผู้หลอก ดังนั้น ผู้หลอกมักใช้วิธีการถ่วงเวลาให้หมดอายุความ

5. ผู้เสียหายเมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอกต้องรีบแจ้งความให้เร็วที่สุด และควรแจ้งความไม่ว่ายอดความเสียหายมากน้อยแค่ไหน เพราะบางคนอาจมองว่าเสียหายไม่กี่พัน ไม่อยากแจ้งความ แต่ความคิดแบบนี้ทำให้คนร้ายลอยนวลหากินแบบนี้ไปเรื่อยๆ

บทลงโทษสำหรับผู้ที่หลอกลวงทําให้ เกิดความเสียหาย ได้แก่ 

  • ฉ้อโกงประชาชน ด้วยการจงใจหลอกประชาชนทั่วไป โดยแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริง เพื่อเอาทรัพย์สินคนอื่น จําคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  • ฉ้อโกงประชาชน โดยแสดงเป็นคนอื่น (ด้วยการจงใจหลอกประชาชนทั่วไป) จําคุก 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับ 10,000 – 140,000 บาท
  • ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น (จงใจหลอกแค่คนเดียว) มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ