ค้นหา

“การให้น้ำหนักพยานหลักฐาน เพื่อออกหมายค้น.. หมายจับ.. กับการตัดสินว่า เขามีความผิด..”

เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งว่า…เกิดการกระทำความผิดขึ้น

พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเตรียมสำนวนฟ้องคดี..

ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อว่า มีหลักฐานในการกระทำผิดนั้น ซ่อนอยู่ในบ้านใคร หรือ มีเหตุอันควรเชื่อว่า ใครเป็นคนร้ายที่กระทำผิด..

ตำรวจต้องไปจับกุมผู้ต้องสงสัย.. ตำรวจต้องไปค้นบ้าน และยึดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง..

แต่การจะเข้าไปตรวจบ้านพักอาศัยเพื่อยึดพยานหลักฐาน.. หรือการจับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้น..

โดยหลักแล้ว ตำรวจต้องไปยื่นคำร้องขอหมายค้น หรือหมายจับที่ศาลก่อน..แม้ขั้นตอนนี้จะไม่ใช่หน้าที่ในการสืบพยานเพื่อค้นหาความจริงของศาล.. เพราะศาลยังไม่ได้รับฟ้องคดี..แต่กฎหมายก็บังคับให้ฝ่ายตุลาการ (ศาล) มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร (ตำรวจ) ก่อนการใช้อำนาจที่อาจกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้..

ประเทศสหรัฐอเมริกา นิยมเรียกหลักการนี้ว่า.. due process of law..

ประเทศสหราชอาณาจักร นิยมเรียกหลักการนี้ว่า.. rule of law..

ประเทศราชอาณาจักไทย นิยมเรียกหลักการนี้ว่า.. หลักนิติธรรม..

หากศาลไต่สวนแล้ว เห็นว่า มีพยานหลักฐานพอจะเชื่อได้ว่า ในบ้านหลังนั้นมีหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำผิด..
หรือ มีพยานหลักฐานพอจะเชื่อได้ว่า บุคคลที่ตำรวจต้องการจับกุมนั้น น่าจะได้ทำผิด..

ศาลก็จะอนุญาตโดยออกหมายค้น หรือหมายจับให้ตำรวจนำไปตรวจค้น หรือจับกุมบุคคลที่ต้องการ..

หลักการออกหมายค้นหมายจับ….

การที่ตำรวจจะยื่นขอหมายค้น หมายจับจากศาลได้.. จะต้องมี.. “เหตุอันควรเชื่อ (probable cause)”

ปัจจุบัน เรียกว่า “พยานหลักฐานตามสมควร” ให้เชื่อว่า จะพบหลักฐานในบ้านที่ขอค้น หรือเชื่อว่า บุคคลที่จะถูกจับเป็นผู้กระทำความผิด..

ถ้าศาลไต่สวนแล้ว เห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานตามสมควรให้เชื่อ..ศาลจะยกคำร้อง.. ไม่ออกหมายค้น ไม่ออกหมายจับให้..

มีคำถามว่า.. พยานหลักฐานตามสมควรนั้นคืออะไร..
และศาลดูตรงไหนว่า มีพยานหลักฐานตามสมควรแล้ว..

หลักการแรกที่ต้องเข้าใจก่อนคือ.. “เหตุอันควรสงสัย” ..แตกต่างจากเหตุอันควรเชื่อ (พยานหลักฐานตามสมควร)..

“เหตุอันควรสงสัย” นั้น เป็นเรื่องการตรวจค้นบุคคลต้องสงสัยในที่สาธารณะ.. ตำรวจทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาล..
ไม่เอาเรื่องให้ศาลตรวจสอบอำนาจตามหลัก due process มาใช้..

แต่ถ้าต่อมา มีการฟ้องคดีนั้นต่อศาล และจำเลยต่อสู้ว่า ตำรวจบังคับตรวจค้นตัวโดยไม่มีเหตุอันควรสงสัย.. ศาลจึงจะเข้ามาวินิจฉัยว่า การค้นตัวไม่ชอบ เพราะไม่มีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่..

ส่วน “เหตุอันควรเชื่อ” เป็นเรื่องการค้นเคหสถาน หรือการจับบุคคลตามหมายจับซึ่งตำรวจต้องขอหมายค้นหมายจับจากศาลก่อน..

กฎหมายวางหลักว่า.. ถ้ามี “เหตุอันควรสงสัย” เกิดขึ้น.. ตำรวจใช้อำนาจเรียก สั่งให้ ประชาชนหยุดเดินทาง.. และมีอำนาจตรวจค้นตัวในที่สาธารณะได้..

ตัวอย่างเหตุอันควรสงสัยทำให้ค้นตัวบุคคลได้..

#ตัวอย่างที่ 1

ตำรวจสายตรวจขับรถผ่านมา พบนาย ก. นั่งอยู่คนเดียว.. สวมหมวกกันน็อค.. ในซอยเปลี่ยว.. ในเวลากลางคืน.. 

เมื่อเจอนาย ก. ในลักษณะนี้.. โดยวิสัยของตำรวจแล้ว ต้องคิดว่า “มันแปลก”.. และน่าสงสัยว่า เขามานั่งทำอะไรตรงนี้ เวลานี้…

ความสงสัยของตำรวจตามอัตวิสัยแบบนี้.. เป็นเรื่องที่ดี.. เพราะสามารถช่วยป้องปรามอาชญากรรมได้..แต่ยังไม่ใช่ “เหตุอันควรสงสัย” ตามกฎหมาย..

#สายตรวจจึงยังไม่มีอำนาจตรวจค้นตัวนายก..

ถ้าสายตรวจขอตรวจค้น แต่นาย ก. ไม่ยอม.. สายตรวจก็ไม่มีอำนาจบังคับ..และการที่นาย ก.ไม่ยินยอมให้ค้นตัวนั้น ก็ยังไม่ใช่เหตุอันควรสงสัยตามกฎหมาย..

แต่ตำรวจสายตรวจที่ดี.. เมื่อเกิดความสงสัยตามอัตวิสัยแล้ว.. และรู้ว่าตนยังไม่มีอำนาจตรวจค้น..เขาก็ควรเฝ้าสังเกตต่อไป หรือเข้าไปพูดคุยทักทาย.. สอบถามตามปกติ..เพื่อหาเหตุอันควรสงสัย..

#ตัวอย่างที่ 2

ตามตัวอย่างที่ 1 สมมุติว่า สายตรวจนั้น มีสัญชาตญาณของตำรวจที่ดี.. แม้รู้ว่าตนเองไม่มีอำนาจค้น.. ก็พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติม..สายตรวจท่านนั้น จึงจอดรถ.. คอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนาย ก. .. พอนาย ก. เห็นว่า ตำรวจจอดรถดู .. ก็เลยรีบลุกขึ้นขี่รถเตรียมจะขับออกไป..สายตรวจจึงเข้าไปหานาย ก. สอบถามว่า..“น้อง.. บ้านอยู่ไหนนี่.. มานั่งทำอะไรในซอยนี้..” นาย ก. ไม่ตอบ.. สายตรวจจึงเดินเข้าไปหา.. พอเห็นสายตรวจเดินเข้ามา นาย ก. ตกใจ รีบทิ้งรถ.. แล้ววิ่งหนี..สายตรวจจึงวิ่งไล่.. จนจับตัวได้..

พฤติการณ์ที่เพิ่มมาให้ดูนี้.. ตั้งแต่ การลุกขึ้นจะขับรถ.. การไม่ตอบคำถาม.. และวิ่งหนี.. เมื่อพิจารณาประกอบ การนั่งคนเดียว สวมหมวกกันน็อคในซอยเปลี่ยว เวลากลางคืน.. #ถือว่ามี “เหตุอันควรสงสัย” แล้ว.. สายตรวจมีอำนาจตรวจค้นตัวและรถของนาย ก. ได้..

#ตัวอย่างที่ 3

กรณีเหมือนตัวอย่างที่ 1 และตำรวจไม่ได้เข้าไปสอบถามเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม.. และนาย ก. ก็ไม่มีลักษณะเป็นพิรุธ.. เมื่อเห็นสายตรวจแล้ว นาย ก. ก็ยังนั่งเฉยๆ.. แต่ถ้าในซอยดังกล่าว.. เป็นซอยที่สายตรวจเคยรับแจ้งเหตุชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนหลายครั้ง.. โดยคนร้ายมักสวมหมวกกันน็อค.. ใช้มีดเป็นอาวุธ และใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะ..

เมื่อสายตรวจผ่านมาพบนาย ก.นั่งสวมหมวกกันน็อค และมีรถมอร์เตอร์ไซค์จอดอยู่ใกล้ๆ.. ในเวลากลางคืน..ข้อเท็จจริงที่ว่า ซอยนั้นเป็นแหล่งอาชญากรรม.. ประกอบกันพฤติการณ์ที่สายตรวจเกิดอัตสงสัย และตรงกับข้อมูลที่ได้รับนี้.. เมื่อรวมกันเข้า..#ถือว่ากรณีนี้มี “เหตุอันควรสงสัย” แล้ว.. สายตรวจจึงมีอำนาจบังคับตรวจค้นตัวนาย ก. และรถมอเตอร์ไซค์ของนาย ก. ตามตัวอย่างที่ 3 นี้ได้..

“เหตุอันควรสงสัย” คือ ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่างๆที่มาประกอบกันแล้ว ทำให้เกิดความสงสัย.. (ไม่ใช่สงสัยเอาเองตามอัตวิสัยและประสบการณ์)..

ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์

“เหตุอันควรสงสัย” ทำให้ตำรวจมีอำนาจตรวจค้นตัวบุคคลในที่สาธารณะได้..

ส่วน “พยานหลักฐานตามสมควร” คือ ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงต่างๆที่มาประกอบกันแล้ว ทำให้เกิดความน่าเชื่อว่า.. มีหลักฐานในการทำผิดซ่อนในบ้าน.. หรือน่าเชื่อว่า บุคคลนั้นเป็นคนทำผิด..

พยานหลักฐานตามสมควร.. ทำให้ศาลออกหมายค้น ไปค้นบ้าน หรือออกหมายจับให้ตำรวจไปจับบุคคลนั้นๆได้..

การชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริง

เมื่อมีข้อมูล หรือข้อเท็จจริง.. ตำรวจ หรือศาล ต้องนำข้อมูลนั้นมาพิจารณา.. ชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูล และข้อเท็จจริงนั้น..ถ้ามีน้ำหนักอันควรทำให้สงสัยได้.. ก็เรียกว่า.. “มีเหตุอันควรสงสัย”

ถ้าชั่งความน่าเชื่อถือแล้ว มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าเหตุอันควรสงสัย ก็เรียกว่า.. “มีพยานหลักฐานตามสมควร”

หลายคนฟังแล้ว อาจจะยังงงๆ ถ้าจะเปรียบเทียบความแตกต่างของเหตุอันควรสงสัย กับเหตุอันควรเชื่อ (พยานหลักฐานตามสมควร)..

ผู้เขียนจะเปรียบเทียบความแตกต่างโดยการเทียบเคียงเป็นสัดส่วน.. เผื่อจะเห็นภาพชัดขึ้นครับ..

ถ้าสัดส่วนเต็ม 100% .. เมื่อนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาประกอบกันแล้ว มีความน่าเชื่อถือได้ 20-30%..
ถือว่า มีเหตุอันควรสงสัย..

เช่น ตามตัวอย่างที่ 1 ถ้าตำรวจสงสัยเองตามวิสัย หรืออาศัยประสบการณ์ หรือลางสังหรณ์ของตำรวจ.. ไม่มีข้อเท็จจริงใดปรากฎ ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือของอะไรเลย..ยังไม่ใช่เหตุอันควรสงสัย.. ตำรวจจะตรวจค้นนาย ก. ไม่ได้..

แต่ตามตัวอย่างที่ 2 และตัวอย่างที่ 3 นั้น.. มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น และมีความน่าเชื่อถือราว 10-40% .. ทำให้สงสัยได้ว่า นาย ก. อาจจะเป็นคนร้ายมาชิงทรัพย์..และน่าจะมีอาวุธมีดติดตัวมา..ถือว่า มีเหตุอันควรสงสัยในการค้นตัวนาย ก. แล้ว..

ถ้าเต็ม 100%.. ข้อเท็จจริงที่นำมาพิจารณาประกอบกันแล้ว มีความน่าเชื่อถือได้เกินกว่า 50% .. คือ มีความน่าเชื่อมากกว่าความไม่น่าเชื่อ..ถือว่า มีพยานหลักฐานตามสมควร.. เช่น ตำรวจต้องการค้นบ้านนาย ก. โดยมีข้อเท็จจริง เป็นพยานหลักฐานมาเสนอศาลว่า สายลับที่เชื่อถือได้ให้ข้อมูลมาว่า นาย ก. ค้ายาเสพติดที่บ้าน ตำรวจจึงตรวจสอบยืนยัน ข้อมูลที่ได้ จนน่าเชื่อว่า เป็นความจริง..ข้อเท็จจริงเหล่านั้น เมื่อรับฟังประกอบกันแล้ว มีความน่าเชื่อมากกว่าไม่น่าเชื่อ (น่าเชื่อเกินกว่า 50%) ว่า นาย ก. เก็บยาเสพติดไว้ในบ้าน..

กรณีนี้ ถือว่า มีพยานหลักฐานตามสมควรว่า จะพบยาเสพติดในบ้านนาย ก. ศาลจึงออกหมายค้นให้ได้..

หรือชาวบ้านเห็นนาย ก. ขายยาเสพติด จึงมาแจ้งตำรวจ.. ตำรวจได้ตรวจสอบข้อมูลจากบุคคลที่น่าเชื่อถือ และไม่มีประโยชน์ได้เสียกับนาย ก. แล้ว ได้ข้อมูลตรงกันกับข้อมูลที่ได้รับแจ้ง..พยานบุคคลที่ได้ มีความน่าเชื่อมากกว่า ไม่น่าเชื่อว่า นาย ก. ขายยาเสพติด..

กรณีนี้ถือว่า มีพยานหลักฐานตามสมควรให้เชื่อว่า นาย ก. น่าจะทำความผิดฐานค้ายาเสพติด.. ศาลจึงออกหมายจับให้ตำรวจไปจับนาย ก. ได้..

นี่ คือ ตัวอย่างการเทียบเคียงน้ำหนักความน่าเชื่อถือของ “เหตุอันควรสงสัย”.. กับ “พยานหลักฐานตามสมควร (เหตุอันควรเชื่อ)..

การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลย..จะเห็นได้ว่า.. เหตุอันควรเชื่อ.. จะต้องมีน้ำหนักความน่าเชื่อมากกว่าเหตุอันควรสงสัย..

ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้องได้นั้น.. จะต้องมีน้ำหนักให้เชื่อว่า เขากระทำผิดจริงๆ..มีมาตรฐานการชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่สูงมากขึ้นไปอีก..

ลำพังข้อเท็จจริงมีน้ำหนักน่าเชื่อในระดับ มีเหตุอันควรสงสัย.. หรือมีเหตุอันควรเชื่อ มีพยานหลักฐานตามสมควรแล้ว..
ก็ยังไม่มากพอที่ศาลจะตัดสินว่า เขาทำความผิดจริงได้..พยานหลักฐานในสำนวนคดีนั้น จะต้องมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากๆๆ.. มากกว่า 20-30%.. มากกว่า 50%.. และมากกว่า 60-70-80- 90%..เรียกได้ว่า.. ต้องมีความน่าเชื่อถือมากว่า จำเลยเป็นคนทำผิดจริง น่าเชื่อมากจนศาลไม่มีความสงสัยเลยว่าจะลงโทษผิดตัว..

กฎหมายใช้คำว่า.. ศาลต้องมั่นใจ และเชื่อโดยปราศจากสงสัย..(beyond reasonable doubt)..
หลักการชั่งน้ำหนักจนถึงขั้นปราศจากสงสัยนี้.. นำมาใช้เฉพาะในคดีอาญาเท่านั้น..
เพราะกฎหมายไม่ต้องการให้ศาลลงโทษผู้บริสุทธิ์..

ถ้าพยานหลักฐานยังไม่มั่นคงจนปราศจากความสงสัย.. ยังทำให้ศาลเกิดสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นคนทำผิดจริงหรือไม่?

กฎหมายห้ามมิให้ศาลตัดสินลงโทษจำเลยคนนั้น..และกฎหมายบังคับให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องไปเลย.. เรียกว่า..“ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลย”.. นั่นเอง..

หลักยกประโยชน์ให้จำเลยนี้.. มาจากแนวคิดที่ว่า..“การพิพากษาให้ปล่อยคนทำผิดจริงไป 10 คน.. ก็ยังดีเสียกว่า การตัดสินลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว” หลักการนี้.. ไม่ใช่หลักกฎหมายที่บัญญัติให้ต้องปฎิบัติตาม.. แต่เป็นเพียงแนวคิด เป็นนิติอุดมคติที่สำคัญ..เพื่อเตือนใจผู้พิพากษาว่า.. การจะตัดสินลงโทษใคร ท่านต้องมั่นใจว่าเขาเป็นคนทำผิดจริงๆเท่านั้น..เช่นเดียวกับหลักการ.. “ให้สันนิษฐานว่า บุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าเขาเป็นผู้กระทำผิดแล้ว”.. (presumption of innocence)..หลักการนี้ ไม่ใช่หลักกฎหมายที่บัญญัติขึ้น ให้มีสภาพบังคับที่ต้องปฎิบัติตาม..แต่เป็นหลักนิติอุดมคติ.. เป็นแนวคิดที่ดี.. เป็นหลักการเพื่อเน้นย้ำเตือนใจบุคคลทุกครในกระบวนการยุติธรรมว่า..\

“ถ้าศาลยังไม่ตัดสินว่าเขาผิด.. ก็อย่าได้หาทำ.. อย่าได้ปฎิบัติต่อเขาเยี่ยงนักโทษในเรือนจำ” เท่านั้นเอง..

ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์

หวังว่า ข้อเขียนนี้ จะยังประโยชน์แก่ท่านผู้ช่วยผู้พิพากษาทั้งหลาย.. แก่เจ้าพนักงานตำรวจ.. แก่ทนายความ.. นักศึกษากฎหมาย และประชาชนทั่วไปที่สนใจบ้าง.. ไม่มากก็น้อยนะครับ..ไว้ถ้ามีโอกาสดี จะมาเล่าหลักการพิจารณาเพื่อออกหมายค้น หมายจับ โดยละเอียดให้ฟัง..

ขอบคุณครับ..

ที่มา :  ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์