“ในปัจจุบันปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน เจ้าของร้านหรือแม้แต่ตัวศิลปินเองก็อาจยังไม่เข้าใจในข้อกฎหมายของลิขสิทธิ์เพลงชัดเจนมากพอ จึงอาจถูกเจ้าของลิขสิทธิ์ดำเนินคดีและเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ…”
พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (มาตรา 31, 70)
“หากทางเจ้าของร้านจะเปิดเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศภายในร้านอาหาร ก็ควรที่จะต้องรีบตรวจสอบว่าเพลงที่จะใช้เปิดมีเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ และดำเนินการเจรจาหรือชำระค่าลิขสิทธิ์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย“
ตัวอย่างคดี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553
ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน “เพื่อหากำไร” ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่มจำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด
การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง