ค้นหา

Q&A : เป็นแม่ค้าออนไลน์แต่ไม่ได้จดทะเบียนการค้า ผิดหรือไม่?

“ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคหันไป ซื้อ-ขาย ในโลกออนไลน์กันมากขึ้น ประโยชน์คือสะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการ พ่อค้า-แม่ค้า หันมาขายของกันตามโซเชียลมีเดียมากขึ้นตามไปด้วย แต่รู้ไหมว่าผู้ประกอบการ พ่อค้า-แม่ค้า จำเป็นต้องจดทะเบียนการค้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มค้าขายเช่นกัน…”

พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 มาตรา 19

หาก “ร้านค้าออนไลน์” ไม่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ หรือแสดงรายการเท็จ, ไม่มาให้นายทะเบียนพาณิชย์สอบสวน, ไม่ยอมให้ถ้อยคำ, ไม่ยอมให้ทะเบียนพาณิชย์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบนั้น จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ 100 บาท จนกว่าจะจดทะเบียนแล้วเสร็จ

ทะเบียนพาณิชย์ คืออะไร?

“ทะเบียนพาณิชย์” หรือ “ทะเบียนการค้า” ก็คือตัวเดียวกัน ในภายหลังคนนิยมเรียก “ทะเบียนพาณิชย์” มากขึ้นก็เพราะเป็นศัพท์ที่ดูเป็นทางการ คนที่จะสามารถจดทะเบียนพาณิชย์ หรือจดทะเบียนการค้าได้นั้นต้องเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ทำธุรกิจที่ยกเว้น พ่อค้า แม่ค้าแผงลอย หรือธุรกิจเพื่อการกุศลและศาสนา รวมถึงกิจการของกระทรวง, ทบวง, กรม, มูลนิธิ, สมาคม และสหกรณ์

การจดทะเบียนพาณิชย์ สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ ลูกค้าจะรู้สึกวางใจเมื่อธุรกิจได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง มีการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ การจดทะเบียนจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจละเลยไม่ได้ ทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญเมื่อจำเป็นจะต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงิน เมื่อต้องการกู้ยืมเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนธุรกิจ หรือแม้แต่การซื้อบ้านและรถ การจดทะเบียนพาณิชย์สามารถตรวจสอบได้ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ตามได้หากมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น

ประโยชน์ของการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. หลังจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เจ้าของธุรกิจจะมีสิทธิ์ในการเข้ารับการอบรม ตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ การบริหารร้านค้า เรียนรู้เทคนิคการตลาดแบบไม่มีค่าใช้จ่าย

2. ช่วยสร้างเครดิตให้กับ “ร้านค้าออนไลน์” ในสายตาของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อเงินกู้ ยื่นขอกู้เงินทุนหมุนเวียน หรือแม้แต่การขอสินเชื่อเรื่องอื่นๆ ก็สามารถใช้ทะเบียนร้านค้าพาณิชย์เป็นหลักฐานประกอบการยื่นเอกสารทางการเงินได้เช่นกัน

3. ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐเก็บข้อมูลสถิติร้านค้าออนไลน์ได้ง่ายขึ้น รัฐจะได้สามารถดำเนินการตามนโยบายทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน, การช่วยเหลือผู้ประกอบการ, การสนับสนุนธุรกิจออนไลน์, การลงทุนต่างประเทศ ฯลฯ

เมื่อร้านค้าออนไลน์เข้าไปอยู่ในระบบฐานข้อมูลของภาครัฐแล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็จะได้รับประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการเยียวยาหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าในภาวะวิกฤติการระบาดของโควิด-19 กลุ่มร้านค้าออนไลน์ที่จะได้รับการช่วยเหลือก็คือ ร้านค้าที่มีรายชื่ออยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐนั่นเอง

ใครบ้างที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์?

1. ผู้ขายสินค้า/บริการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ Social Media

2. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP)

3. ผู้ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (WebHosting)

4. ผู้ให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้า/บริการ ผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Marketplace) เช่น Lazada Shopee ฯลฯ

ต้องขอจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มค้าขาย ผู้ค้าต้องทำเว็บไซต์ที่จะใช้ขายสินค้าให้เรียบร้อย เช่น ลงรูปสินค้า คำบรรยาย ราคา วิธีชำระเงิน และวิธีจัดส่งให้ครบถ้วน

ผู้ประกอบการออนไลน์ สามารถเดินทางไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ ณ สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร, ต่างจังหวัดในเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามที่ตั้งของของสถานประกอบการ, ที่อยู่ พ่อค้า-แม่ค้า โดยเอกสารที่จำเป็นได้แก่ บัตรประชาชนตัวจริง, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, รูปหน้าร้านในเว็บไซต์ (Print เป็นเอกสารเพื่อเตรียมยื่นประกอบ)

ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. แสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง พร้อมแจ้งว่ามาจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

2. ขอเอกสารแบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)

3. กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.) กรอก 1 ใบต่อ 1 เว็บไซต์

4. เตรียมเอกสารที่ Print หน้าแรกของเว็บไซต์

5. วาดแผนที่ตั้งการประกอบพาณิชยกิจ

6. หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)

7. กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาจดแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทั้งผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

วิธีขอเครื่องหมาย “DBD Registered”

เมื่อพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ผ่านขั้นตอนการยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถขอใช้เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่าเครื่องหมาย “DBD Registered” โดยเครื่องหมายนี้มีประโยชน์คือ ใช้แสดงความมีตัวตนในการประกอบธุรกิจ e-Commerce โดยแสดงไว้บนหน้าเว็บไซต์ร้านค้าและสามารถตรวจสอบข้อมูลการมีตัวตนมายัง www.trustmarkthai.com ได้

สำหรับช่องทางในการยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมาย DBD Registered สามารถแจ้งขอใช้เครื่องหมายฯ ได้ที่ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 0-2547-5959-61 โทรสาร 0-2547-5973 เว็บไซต์ www.trustmarkthai.com หรือ ส่งเอกสารมาที่ e-Mail : [email protected]

NOTE : เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะมีอายุการใช้งานเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กรมอนุมัติให้มีกำหนดใช้

เสียงความรู้กฎหมาย ตอนที่ 191 อยากเป็นแม่ค้าออนไลน์

อ้างอิง: ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบการพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553