“กักกัน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 40 คือ “ การควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัย และเพื่อฝึกหัดอาชีพ ”
ผู้กระทำความผิดติดนิสัย คือ บุคคลที่ระบุไว้ใน มาตรา 41 กล่าวคือ ผู้ที่เคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันมาแล้ว หรือเคยถูกพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ดังต่อไปนี้
- ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาขน มาตรา 209-216
- ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน มาตรา 217-224
- ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา มาตรา 240-246
- ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276-286
- ความผิดต่อชีวิต มาตรา 288-290, 292-294
- ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295-299
- ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา 309-320
- ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ มาตรา 334-340, 354 และ 357
และภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นได้พ้นจากการกักกันหรือพ้นโทษแล้วแต่กรณี ผู้นั้นได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ในบรรดาที่ระบุไว้นั้นอีกจนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สำหรับการกระทำความผิดนั้น ศาลอาจถือว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัยและจพิพากษาให้กักกัน มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เกิน 10 ปี ก็ได้
* ความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี นั้น มิให้ถือเป็นความผิดที่จะนำมาพิจารณากักกันตามมาตรานี้
ตัวอย่าง : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2563
คดีนี้โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและบรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว 6 คดี หลังจากพ้นโทษทั้งหกคดีแล้ว
จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีก ภายในเวลาสิบปีนับแต่จำเลยพ้นโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับที่ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์และรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษตามฟ้องจริง โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ กับเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษในคดีอื่นๆ อีก 6 คดี ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์และจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบแปดปี จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้ว
ภายในเวลาสิบปีจำเลยมากระทำผิดคดีนี้ฐานลักทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนอีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะนำมาพิจารณากักกันจำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) ได้