#ป้องกันเกินกว่าเหตุ : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?…เบื้องต้นก่อนที่เราจะมาทำความเข้าใจ “การป้องกันเกินกว่าเหตุ” นั้น เราจำเป็นจะต้องรู้จัก ประมวลกฎหมายอาญา 68 เสียก่อน.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของ ผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
จากบทบัญญัติ มาตรา 68 จะสังเกตได้ว่า การที่บุคคลหนึ่งจำต้องทำความผิดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นปลอดภัยจากอันตรายที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึงตัว หากเป็นการกระทำที่ “สมควรแก่เหตุ” แล้ว จะไม่มีความผิด เรียกได้ว่าเป็นการ “ป้องกันสมควรแก่เหตุ”…เมื่อรู้จักการป้องกันตามมาตรา 68 แล้ว ต่อไปจะเป็นเรื่องการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งถูกบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 ซึ่งวางหลักว่า
“ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความ ตกใจหรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้”
จากบทบัญญัติมาตรา 69 จะเห็นว่าหลักเกณฑ์การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ มีดังนี้
1. ผู้กระทำได้กระทำไปเพื่อป้องกันภยันตรายตามมาตรา 68
2. การป้องกันได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ เกินกว่าความจำเป็น หรือเกินกว่าการจะต้องกระทำเพื่อป้องกัน
3. จากเดิมที่การป้องกัน ตามมาตรา 68 ผู้ป้องกันไม่มีความผิดตามกฎหมายเลย แต่หากเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ผู้ป้องกันดังกล่าวยังมีความรับผิดทางอาญาอยู่ เพียงแต่เป็นดุลพินิจของศาลในการกำหนดโทษ
ส่วนการกระทำเพียงใดจึงจะถือว่าพอสมควรแก่เหตุนั้น ท่านศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้วางหลักในการวินิจฉัยไว้ 2 ทฤษฎี คือ (หยุด แสงอุทัย, 2556: 144-145)
(1) ทฤษฎีสัดส่วน ซึ่งตามทฤษฎีนี้ จะต้องพิจารณาว่าอันตรายที่จะพึงเกิดขึ้นถ้าหากจะไม่ป้องกัน จะได้สัดส่วนกับอันตรายที่ผู้กระทำได้กระทำเนื่องจากการป้องกันนั้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่น คนเขาจะตบหน้าเรา เราจะใช้มีดแทงเขาตายไม่ได้ เพราะความเจ็บอันเนื่องจากการ ถูกตบหน้า เมื่อเทียบกับความตายแล้วไม่ได้สัดส่วนกัน ฉะนั้นจึงถือว่า การเอามีดมาแทงเขาตายนี้ เป็นการกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ ผู้กระทำจึงไม่มีอำนาจทำได้
(2) ทฤษฎีวิถีทางที่น้อยที่สุด ตามทฤษฎีนี้ถือว่า ถ้าผู้กระทำใช้วิถีทางน้อยที่สุดที่จะทำให้เกิดอันตรายก็ถือว่าผู้กระทำได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ.ตัวอย่างเช่น ก.เป็นง่อยไปไหนไม่ได้ ข.จึงเขกศีรษะก.เล่น โดยเห็นว่าก.ไม่มีทางกระทำตอบแทนได้เลย นายก.ห้ามปรามเท่าใดข.ก็ไม่เชื่อฟัง ถ้าการที่ก.จะป้องกันมิให้ข.เขกศีรษะมีวิธีเดียวคือใช้มีดแทงข. ต้องถือว่าการที่ก.ใช้มีดแทงนี้เป็นการกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ เพราะเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะป้องกันได้
อ้างอิง : ประมวลกฎหมายอาญา