โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) หรืออาการผิดปกติทางจิตที่แสดงออกว่าชอบหรือรักเด็ก ที่เกินขอบเขตจนนำไปสู่การนำเด็กมาเป็นเหยื่อบำบัดความใคร่ทางเพศ หลังจากที่เราทำความรู้จักกันไปบ้างแล้ว เรามาลองดูกันบ้างว่าในทางกฎหมาย เราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดโทษและลงโทษโดยคำนึงถึงความผิดปกติทางจิต “โรคใคร่เด็ก” และอาจไม่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชผู้ทำความผิดจึงมีความผิดและรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา แบ่งออกตามรูปแบบของการกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก
- ไม่มีการสัมผัสร่างกาย เช่น เปลือยกายให้เด็กดูอวัยวะเพศ แอบดูเด็กอาบน้ำ พูดจาลวนลาม ให้เด็กดูภาพ-คลิปลามกเพื่อเร่งเร้าหรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
- สัมผัสร่างกายแต่ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ เช่น กอด จูบ ลูบคลำอวัยวะเพศเด็กด้วยมือหรือปากให้เด็กจับอวัยวะเพศเพื่อสำเร็จความใคร่
- ล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากกระทำชำเราแล้วจะบังคับ ข่มขู่เด็ก ให้เก็บเป็นความลับและกระทำชำเราซ้ำๆ หรือทำร้ายร่างกายหรือฆ่า
บทลงโทษผู้ทำผิดตามกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับเด็ก
ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก
- ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เช่น คลิปวิดีโอ รูปถ่าย วัตถุหรือสิ่งอื่นที่แสดงให้รู้/เห็นการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี โดยรูป/เรื่อง/ลักษณะลามกอนาจาร และที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ : มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
- ส่งต่อสื่อลามกอนาจารเด็ก : มีโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- Upload File คลิปวิดีโอ รูปถ่าย หรือ ข้อมูลลักษณะลามกสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ : โทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กระทำอนาจารเด็ก
- กระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม : มีโทษจำคุก 1 – 10 ปี หรือปรับ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- กระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม : มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กระทำชำเราเด็ก
- กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม : มีโทษจำคุก 7 – 20 ปี และปรับ 140,000 – 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
- กระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม : มีโทษจำคุก 5 – 20 ปี และปรับ 100,000 – 400,000 บาท
บทลงโทษผู้ป่วยทางจิตเวชที่ทำผิดตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ศาลอาจพิจารณาใช้เหตุบรรเทาโทษได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล หากมีเหตุ ดังต่อไปนี้
- โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์สาหัส
- มีคุณความดีมาก่อน
- รู้สึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายในความผิด
- ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา
- สารภาพความผิดต่อเจ้าพนักงาน
ยกเว้นโทษ/ลดโทษ กรณี กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดี หรือ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีอาการจิตบกพร่อง เป็นผู้ป่วยจิตเวช หรือจิตฟั่นเฟือน : ไม่ต้องรับโทษ แต่หากพิสูจน์แล้วว่าผู้กระทำผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือ ยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง : อาจรับโทษน้อยลง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นสถานการณ์ที่สุ่มต่อบุตรหลานของท่าน แจ้งเหตุได้ที่
- มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ)
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
อ้างอิง:
2. วิทยานิพนธ์คณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2560 โดยนางสาววรัญญา เสาวนิต เรื่อง ผู้ป่วยโรคใคร่เด็กกับขอบเขตความรับผิดทางอาญา : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ
3. ประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 277, 279, 287/1, 65, 78)
4. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (มาตรา 14 (4))