การพัฒนารูปแบบกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย : การระงับข้อพิพาทออนไลน์
ปัจจุบันข้อพิพาทเกิดจากการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับธุรกรรมทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางเว็ปไซต์ (Website) เฟสบุค (Facebook) อินสตาแกรม (Instragram) หรือไลน์ (Line) ประกอบกับสถานการณ์ ในประเทศและระหว่างประเทศทั่วโลกไม่เอื้ออำนวยต่อการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เนื่องจากการเกิดโรคระบาดโคโรนาไวรัส – 19 (Covid-19) ทำให้ต้องมีการพัฒนารูปแบบกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในด้านกระบวนการระงับข้อพิพาท
กฎหมายที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท
1.พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยการที่คู่พิพาทตกลงกันระงับ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการแต่งตั้งบุคคลที่สามคนหนึ่งหรือหลายคนซึ่งเป็นผู้ที่มีความเป็นกลางและมีความรู้ในเรื่องที่พิพาทให้เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทนั้น และคู่พิพาทตกลงยอมตนผูกพันตามคำชี้ขาดนั้น ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า “สัญญาอนุญาโตตุลาการ” ระบบการอนุญาโตตุลาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกชนมีส่วนในการทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทและชี้ขาดข้อพิพาทที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนด้วยกันเอง โดยคู่พิพาทไม่จำต้องใช้สิทธิทางศาล
2. พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562
เป็นกฎหมายกลางที่กำหนดเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งเป็นวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกประเภทหนึ่ง โดยกำหนดให้ “การไกล่เกลี่ย ข้อพิพาท” คือ การดำเนินการเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาลและในชั้นการบังคับคดีและ “ผู้ไกล่เกลี่ย” คือ บุคคลซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทรวมทั้งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ โดยมีบทบัญญัติรองรับเกี่ยวกับผู้ไกล่เกลี่ยไว้โดยเฉพาะ (หมวด 1) นอกจากนั้น ยังได้แบ่งประเภทของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นทางแพ่งและทางอาญา
3. การอนุญาโตตุลาการออนไลน์และการไกล่เกลี่ยออนไลน์แยกการพิจารณา ดังนี้
การอนุญาโตตุลาการออนไลน์ คือ อนุญาโตตุลาการที่กระทำโดยผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การทำสัญญาอนุญาโตตุลาการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การส่งพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ การประชุมผ่าน Video Conference เป็นต้น
การไกล่เกลี่ยออนไลน์ ศาลยุติธรรมจึงได้พัฒนารูปแบบระบบการไกล่เกลี่ยเป็นออนไลน์และได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับให้ศาลยุติธรรม ทั่วประเทศใช้เป็นแนวปฏิบัติงานด้านการไกล่เกลี่ยออนไลน์ เช่น จัดให้มีช่องทางเพื่อประสานงานในการนำคดีหรือข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยออนไลน์ จัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยออนไลน์กำหนดข้อพิพาทที่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยออนไลน์ได้ เช่น คดีผู้บริโภค คดีแรงงาน ข้อพิพาท ทางอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้หรือคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ จัดทำการนำข้อพิพาท เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยออนไลน์ โดยการยื่นคำร้องต่อศาลด้วยตนเองหรือยื่นคำร้องผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น แอปพลิเคชัน LINE, E–mail , QR Code ของศาล เป็นต้น
กฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 271 341 342 343
- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
- พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
- พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2541
- พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
- พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
- พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
ผู้เขียนเห็นว่าควรพิจารณาเทียบเคียงกับพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ด้วย โดยมีความเห็นและข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
- กำหนดคดีที่จะอยู่ภายใต้การบังคับใช้การระงับข้อพิพาทออนไลน์ โดยควรเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น และเป็นคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ไม่มากนัก นอกจากนั้น ควรกำหนดให้คู่กรณี ที่จะเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทออนไลน์ต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ซึ่งก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว อาจต้องมีการสอบถามคู่กรณีที่เกี่ยวข้องเสียก่อน
- กำหนดวิธีการได้มาซึ่งผู้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทออนไลน์และกำหนดรูปแบบวิธีการระงับ ข้อพิพาทออนไลน์ เนื่องจากโดยทั่วไปการระงับข้อพิพาทมีหลายรูปแบบ เช่น การเจรจา การไกล่เกลี่ย
- กำหนดวิธีการเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทออนไลน์ได้โดยง่าย เช่น ดำเนินการผ่านทางเว็ปไซต์ ตลอดจนวิธีดำเนินการระงับข้อพิพาทออนไลน์ หน้าที่และอำนาจของผู้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทออนไลน์ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจและฝ่ายผู้บริโภค ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถเป็นโจทก์หรือจำเลยร่วมกันได้ รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการระงับข้อพิพาท
- กำหนดกรณีที่กฎหมายถือได้ว่าข้อพิพาทยุติลงหรือเป็นการระงับข้อพิพาทออนไลน์แล้ว ทั้งนี้ หากข้อพิพาทยังไม่มีการระงับ อาจกำหนดกระบวนการในการดำเนินคดีต่อไป เช่น การยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาล การใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการ
- ในกรณีที่มีบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทออนไลน์ อาจต้องกำหนดวิธีการบังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวไว้ด้วย
- การระงับข้อพิพาทออนไลน์ควรคำนึงการจับความรู้สึกจากภาษากาย (Non Verbal) ของคู่พิพาท การรักษาไว้ซึ่งความลับเพราะอาจมีการคัดลอกไฟล์ ถอดบทสนทนาหรือจับภาพหน้าจอ และการเข้าใจผิดได้ง่ายเนื่องจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางออนไลน์เป็นการสื่อสารผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือห้องสนทนาโดยการพิมพ์ข้อความเป็นหลัก แต่หลาย ๆ ครั้งคู่พิพาทฝ่ายที่ส่งข้อความออกไปต้องการจะสื่อความหมายอย่างหนึ่ง แต่คู่พิพาทฝ่ายที่รับสารอาจเข้าใจความหมายอีกอย่างก็ได้ ทาให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างกันอันเป็นมูลเหตุที่ทาให้ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จ
- กำหนดฐานความผิดและบทลงโทษสำหรับผู้ไกล่เกลี่ย ในกรณีที่ผู้ไกล่เกลี่ยเรียกรับหรือยอม จะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการและฐานความผิดและบทลงโทษสำหรับผู้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำ ในทำนองเดียวกับบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาท พ.ศ. 2562