กัญชง (Hemp) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. ssp. Sativa เป็นพืชที่บทบาทและความสำคัญต่อหลายประเทศในโลกมานานแล้ว เนื่องจากเป็นพืชที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ใบ ลำต้น เปลือก แกน ช่อดอก เมล็ด และราก สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเชิงพาณิชย์ได้มากมาย การใช้ประโยชน์จากกัญชงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นวัตถุดิบตัวใหม่ในต่างประเทศ เพราะมีใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชงผลิตเป็นสินค้าใช้ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีความต้องการใช้เส้นใยกัญชงเพิ่มขึ้น โดยมีฝรั่งเศสและโรมาเนียเป็นผู้ส่งออกหลัก ป้อนให้กับอุตสาหกรรมคอมโพสิท ชิ้นส่วนยานยนต์ในเยอรมนี และอุตสหกรรมสิ่งทอในสาธารณรัฐเช็ก แต่พื้นที่ปลูกกัญชงในยุโรปกลับลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายทางการเกษตรร่วมของสหภาพยุโรป จึงเริ่มมีการเสาะหาแหล่งวัตถุดิบใหม่จากทั่วโลก ในขณะที่จีน มีพื้นที่ปลูกกัญชงมากที่สุดในโลก และถูกใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหลักจึงไม่เหลือพอให้ส่งออกมากนัก (ช่อทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์. วารสารสำนักงาน ป.ป.ส. ปีที่ 36 ฉบับที่ 3 (มิถุนายน – กันยายน 2563)
สำหรับประเทศไทย กัญชงเป็นวัตถุดิบใหม่ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาสินค้า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) ให้บางส่วนของต้นกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% เมล็ด น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ด และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชง ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%
กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ให้ขออนุญาตปลูก ผลิต ส่งออก จำหน่าย ครอบครองได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเข้ามาปลูกจะสามารถทำได้ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่กฎกระทรวงฉบับนี้บังคับใช้ ยกเว้นช่อดอก ยังไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด ทั้งนี้ เนื่องจากตามอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศยังควบคุมเป็นยาเสพติด แต่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
วิธีขออนุญาตปลูกกังชง
การปลูกกังชงถึงถูกกฎหมาย แต่ต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อนถึงจะปลูกได้ รวมทั้งต้องมีวัตถุประสงค์ปลูกเพื่ออะไรให้ทราบด้วย การปลูกสวยงามเป็นไม้ประดับบ้านเพื่อความสวยงาม จะไม่ได้รับอนุญาต และผิดกฎหมาย
การขออนุญาตให้เตรียมเอกสารตามที่ อย. กำหนด (Link) แล้วไปยื่นเอกสาร
- หากสถานที่ปลูกอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอที่ อย.
- อยู่ที่ต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอที่ สสจ.
- การนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง ให้ยื่นคำขอที่ อย.
ภายใต้กฎกระทรวงฉบับนี้สามารถขออนุญาตส่งออกกัญชงได้ และภายใน 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
กัญชงทำอะไรได้บ้าง
สมุนไพร กัญชง ถือเป็นพืชที่มีประโยชน์ทุกส่วน ส่วนใหญ่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ดูแลผิวได้หลายส่วน ใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น ต้นทุนไม่สูง เหมาะกับการสร้างรายได้ให้ครัวเรือนหรือเป็นธุรกิจ
- ช่อดอก ใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน หรือ ยาแผนไทย
- เมล็ด น้ำมัน และสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ใช้ทำอาหาร และ เครื่องสำอาง
- ใบจริง ใบพัด ใช้เป็นสมุนไพร อาหาร และ เครื่องสำอาง
- เปลือก ลำต้น เส้นใย ใช้ทำเครื่องสำอาง ครีมขัดผิว สบู่ แชมพู
- สารสกัด CBD และ มี THC ไม่เกิน 0.2% ใช้ทำเวชสำอาง สมุนไพรภายนอก ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
- กิ่งก้าน: ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, เครื่องสำอาง
- ราก: เครื่องสำอาง