ค้นหา

โดนหลอกให้สแกน QR CODE โอนเงินให้มิจฉาชีพ!

สื่อเสียงความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Podcast) หมวดความรู้เรื่อง: อาชญากรรมทางเทคโนโลยี รายการ 18 มงกุฏออนไลน์ โดย นที แววจะโปะ

การทำธุรกรรมทางลัดหรือที่เรียกว่า สแกน QR CODE ซึ่งตอนนี้มีคดีความเกี่ยวกับการสแกน QR CODE มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเมื่อเราใช้โทรศัพท์สแกน QR CODE ระบบจะพาเราไปยังลิงค์ต่างๆ หรือโอนเงินในรูปแบบ Mobile Banking แต่การที่เราทำแบบนี้ รู้หรือไม่ว่า…ยังมีมิจฉาชีพที่เป็นอาชญากรไซเบอร์แอปแฝงอยู่ เพราะว่าในระหว่างที่เราแสกน QR CODE ช่องทางจาก QR CODE ไปถึงลิงค์จะมีช่องว่างที่ทำให้มิจฉาชีพฉกข้อมูลเราไป หรือเปลี่ยนปลายทาง จากเดิมที่เราตั้งใจจะไปที่ลิงค์ของเรา มิจฉาชีพก็จะฉวยโอกาสพาเราไปยังลิงค์ของมิจฉาชีพ เราอาจจะไปกดยืนยัน มอบข้อมูลส่วนตัว หรือโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจหรือเราไม่ได้อ่านให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน

รูปแบบกลโกงที่มิจฉาชีพใช้

– หลอกว่าจะคืนเงินค่าสินค้า เนื่องจากสินค้าที่สั่งหมด ให้สแกน QR CODE เพื่อรับเงินคืน

– หลอกให้สแกน QR CODE เพื่อรับบัตรคูปองส่วนลด สิทธิพิเศษ รับสินค้าหรือรับบริการฟรี เพื่อหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว

– หลอกว่าแจกเงิน กู้เงินดอกเบี้ยพิเศษ โดยอ้างเป็นธนาคาร

– ส่งจดหมายหรือเอกสารทางราชการปลอมหรือส่งพัสดุถึงบ้าน เช่น ใบสั่งค่าปรับจราจร หมายศาล ใบจ่ายภาษี เพื่อให้สแกน QR CODE โอนจ่ายเงิน

– หลอกชำระค่าบริการ NETFLIX แอพพลิเคชันดูหนังหรือซีรี่ย์ออนไลน์ โดยมิจฉาชีพจะสร้างอีเมลปลอมส่งข้อมูลแจ้งว่าเรายังไม่ได้ชำระค่าบริการที่ต้องชำระค่าบริการรายเดือนหรือรายปี หรืออ้างว่าไม่สามารถตัดเงินค่าบริการจากบัตรเครดิตของเราได้ โดยมิจฉาชีพจะให้เราสแกน QR CODE หรือกดลิงค์ผ่านอีเมลที่ส่งมา และให้กรอกข้อมูลบัตรเครดิตหรือข้อมูลส่วนตัวใหม่ พร้อมกับหลอกให้ใส่รหัส OTP เพื่อยืนยันข้อมูล ซึ่งเมื่อเราหลงเชื่อดำเนินการไปแล้ว เงินจากบัตรเครดิตของเราอาจจะถูกดูดไปจนหมดบัญชี ดังนั้น หากได้รับอีเมลแจ้งให้ชำระเงินค่าบริการต่าง ๆ ขอให้ตรวจสอบสอบชื่ออีเมล์ผู้ส่งว่าเป็นอีเมล์ที่ส่งมาจากผู้ให้บริการแอพพลิเคชันอย่างเป็นทางการหรือไม่ และในการกรอกข้อมูลต่าง ๆ ควรกรอกผ่านเว็บไซต์ทางการของผู้ที่ให้บริการแอพพลิเคชันนั้นโดยตรงหรือติดต่อสอบถามไปยังฝ่ายบริการลูกค้าของแอพพลิเคชัน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

– มิจฉาชีพติดต่อร้านอาหารผ่านแอพพลิเคชัน Line หลอกสั่งข้าวกล่องจำนวนมากโดยอ้างว่านำไปจัดเลี้ยงประชุมและโอนเงินมัดจำก่อน ต่อมามิจฉาชีพได้โทรศัพท์สั่งอาหารเพิ่มและส่ง QR CODE มาให้ร้านอาหารแอดเพื่อน แต่เมื่อแสกน QR CODE กลับพบว่าเข้าไปในเว็บไซต์หลอกลวงให้กรอกข้อมูลหรือบัญชีธนาคารและหลอกให้โอนเงินไปบัญชีคนอื่นที่ไม่ใช่บัญชีของร้านค้าได้

9 วิธีป้องกันง่ายๆ

– วิธีที่ 1 ระมัดระวังในการสแกน QR CODE  ไม่ว่าจะเป็น QR CODE ที่ปรากฏตามป้ายโฆษณา เว็บไซต์ หรือเอกสาร ต่างๆ เพราะคนร้ายอาจแอบนำ QR CODE ที่นำไปสู่เว็บไซต์ปลอมหรือหลอกให้ติดตั้งไวรัสคอมพิวเตอร์

– วิธีที่ 2 เราต้องสังเกตรูปภาพ QR CODE ให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราจะโอนไปนั้นเป็น QR CODE ต้นฉบับหรือไม่ เช่น มีคนเอาสติ๊กเกอร์ไปแปะ หรือเอาปากกาไปขีดเขียน เพื่อจะนำนั้นไปอีกลิงค์หนึ่งหรือไม่

– วิธีที่ 3 เมื่อเราแสน QR CODE แล้วให้ตรวจสอบ URL ลิงค์ หรือเว็บไซต์ดี ๆ ว่าตรงตามที่เราอยากไปหรือไม่ โดยเฉพาะเว็บไซต์เกี่ยวกับธนาคาร สถาบันการเงิน ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนกรอกรหัสผ่าน(password) เข้าใช้งาน เพราะบางกรณีมิจฉาชีพจะเปลี่ยนแค่ตัวสะกดแค่ตัวเดียวเท่านั้น ต้องสังเกตให้ดี ๆ อาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น ถอนเงิน หรือโอนเงินไปบัญชีมิจฉาชีพ

– วิธีที่ 4 หากเป็นแคมเปญการตลาด ส่งเสริมการขาย ส่วนมากจะข้อเพียงชื่อ อีเมล หรือเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น หากมีการขอข้อมูลส่วนบุคคลแบบละเอียด เช่น หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด จนถึงบัญชีธนาคาร อาจเป็นแคมเปญปลอมที่แฮกเกอร์สร้างเพื่อหลอกเอาข้อมูล และก่อนที่เราจะกรอกข้อมูลส่วนตัว พึงระลึกเสมอว่าข้อมูลอะไรที่ต้องห้ามบ้าง ห้ามกรอกลงไปเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรืออื่น ๆ ทั้งสิ้น

– วิธีที่ 5 แนะนำสำหรับคนที่ชอบทางลัด ชอบดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน ด้วยการสแกน QR CODE แนะนำว่าต้องดาวน์โหลดโดยตรงที่ App Store หรือ Play Store หรือ Google Play จะปลอดภัยกว่า

– วิธีที่ 6 เวลาที่โอนจ่ายเงินผ่าน QR CODE เรียบร้อยแล้ว หากมีอีเมล์ยืนยันมาในอีเมล์ของเราว่า คุณได้ชำระสิ้นค่าชิ้นนี้เรียบร้อยแล้ว หรือบางกรณีจะมีอีเมล์ตอบกลับมาว่า คุณชำระเงินไม่ถูกต้อง ให้คุณชำระอีกครั้ง ถ้าเห็นอีเมล์เช่นนี้ อย่าพึงชำระทันที ให้ตรวจสอบไปยังต้นทางก่อนว่าการที่เราชำระเงินไปนั้น เข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้วหรือยัง และที่สำคัญห้ามตรวจสอบโดยกดเบอร์โทรศัพท์ที่แนบมาพร้อมกับอีเมล์ เพราะอาจจะเป็นเบอร์โทรศัพท์หลอกได้ เราต้องค้นหาเบอร์โทรจากต้นทางจริงๆ เพื่อโทรไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

– วิธีที่ 7 แอพพลิเคชันที่เกี่ยวกับการแสกน QR CODE มีการทำปลอมเยอะมาก ๆ เพราะฉนั้นไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชันที่เป็นแอพฯ สแกน QR CODE

– วิธีที่ 8  ถ้ามีใครส่ง QR CODE มาให้คุณ ให้ระลึกเสมอว่า ต้องตรวจสอบกับต้นทางว่า QR CODE นั้น เป็น QR CODE จริงหรือไม่ มิฉะนั้นถ้าเราโอนเงินไปอาจจะเข้าบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพได้

– วิธีที่ 9 ถ้าเราจะชำระเงินผ่านทางเว็บไซต์ ให้กรอกหรือพิมพ์เว็บไซต์นั้นโดยตรง อย่าสแกน QR CODE

อ้างอิง: ประมวลกฎหมายอาญา https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=443287&ext=pdf