ค้นหา

26 ข้อกับกฎหมายพยานเบื้องต้น พยานหลักฐานในคดีอาญา คืออะไร ศาลให้คุณค่ากับพยานประเภทไหน?

ทุกวันนี้ มีคนพูดเรื่องพยานหลักฐานกันมาก แต่พยานหลักฐานกลับเป็นเรื่องที่มักจะรู้กันในหมู่นักกฎหมายเท่านั้น วันนี้จะมาแชร์ให้ประชาชนได้ทราบเรื่องนี้บ้างนะครับ เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจว่า พยานหลักฐานในคดีอาญาคืออะไร ศาลให้คุณค่ากับพยานประเภทไหน ใน 26 ข้อกฎหมายพยานเบื้องต้น

  1. พยานหลักฐานในศาล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท พยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสาร
  2. ก่อนถึงศาล พนักงานสอบสวนมีหน้าที่หาพยานหลักฐาน เช่น อาวุธที่ใช้ สอบปากคำพยานที่เห็นเหตุการณ์ รวมสำนวนไว้
  3. พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนหาพยานเพิ่มเติมได้ ถ้าเหตุว่าสำนวนยังอ่อนเกิน
  4. พนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร มีหน้าที่รวบรวมมาเสนอศาล ตอนฟ้องคดี ศาลเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ มีหน้าพิพากษาตัดสิน คนละฝ่ายกับฝ่ายบริหาร
  5. พนักงานสอบสวนทำสำนวนเสร็จ จะส่งให้อัยการ เพื่อฟ้องศาลถ้าพยานหลักฐานอ่อนเกิน ไม่พอให้ศาลฟังลงโทษได้ อัยการก็จะมีคำสั่งไม่ฟ้อง ปล่อยคนทำผิดไปเลย
  6. ในชั้นตำรวจ ถ้าสงสัยว่า อะไรอาจเกี่ยวข้อง ต้องรวบรวมเอามาเป็นพยานไว้ก่อน
  7. ในชั้นศาล คดีอาญา แค่สงสัยว่า จำเลยอาจจะไม่ผิด ให้ศาลพิพากษายกฟ้องไว้ก่อน
  8. พยานหลักฐานที่ไม่ชอบ ศาลจะไม่รับฟัง เช่น คำให้การที่ได้มาเพราะข่มขู่ หลอกลวง ให้สัญญา พยานเท็จ หรือข้อมูลบางอย่างที่ได้มาโดยไม่มีหมายค้น หรือไม่ได้ขออนุญาตศาลก่อน
  9. ศาลไม่ได้เชื่อพยานที่จำนวนว่า มาก หรือน้อย แต่ความน่าเชื่อจะดูจาก ความเป็นธรรมชาติ มีเหตุผลและสอดคล้องกับ พยานหลักฐานอื่น และพฤติการณ์ในคดี
  10. พยานที่เห็นเหตุการณ์ เรียกว่า ประจักษ์พยาน ศาลให้ความสำคัญมากที่สุด เช่น ผู้เสียหาย หรือ ผู้เห็นเหตุการณ์
  11. ประจักษ์พยานปากเดียว ถ้าน่าเชื่อ ศาลตัดสินลงโทษได้เลย เช่น ผู้เสียหายที่ถูกข่มขืนจำหน้าคนร้ายได้
  12. ประจักษ์พยานเพียงปากเดียว ถ้าไม่น่าเชื่อ ศาลตัดสินยกฟ้องได้เลยเช่น เหยื่อที่ถูกยิงบาดเจ็บให้การว่า เห็นคนร้าย แต่ตอนนั้นตนนอนหลับอยู่
  13. ส่วนพยานที่ไม่เห็นเหตุการณ์ เรียกว่า พยานแวดล้อม หรือพยานบอกเล่า มีน้ำหนักความน่าเชื่อน้อยกว่า
  14. ถ้ามีพยานมาก และพยานทั้งหมดสอดคล้องกัน จะน่าเชื่อมาก เช่น พยาน 5 ปากให้การว่า เห็นมือปืน ตรงกับกล้องวงจรปิด และคำให้การรับสารภาพ แต่ถ้าพยานบางคนเบิกความต่างกันในข้อสำคัญ ก็ยกฟ้องได้ง่ายๆ
  15. พยานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีประโยชน์ได้เสีย ไม่เคยโกรธกันมาก่อนจะมีน้ำหนักมาก เช่น พยานที่ไม่รู้จัก คู่ความมาก่อน
  16. พยานที่เป็นญาติ หรือคนในครอบครัว มาเบิกความช่วยกัน ศาลให้น้ำหนักน้อย เช่น สามียืนยันว่าภริยาเป็นผู้บริสุทธิ์
  17. พยานผู้เชี่ยวชาญ ที่มาให้การ ในเรื่อง ความรู้เฉพาะทาง ศาลให้ความสำคัญมาก ถ้าเบิกความน่าเชื่อถือในประเด็นเรื่องความรู้นั้น เช่น แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืน
  18. พยานนิติวิทยาศาสตร์ เช่น ผลตรวจบาดแผล ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือดีเอ็นเอต้องมีพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความประกอบ
  19. พยานนิติวิทยาศาสตร์ ศาลให้ความสำคัญมาก หากทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน ทั้งการเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์หลักฐาน
  20. พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นั้น ศาลจะรับฟังประกอบพยานอื่นๆ และไม่ได้มีความสำคัญมากไปกว่าประจักษ์พยาน
  21. พยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสาร ต้องผ่านการค้นหาความจริง โดยการสอบถามและตรวจพิสูจน์จากอีกฝ่าย เพื่อยืนยัน หรือจับพิรุธ ต่อหน้าคู่ความ และต่อหน้าศาล
  22. เมื่อทนายจำเลยและพนักงานอัยการ ได้สอบถามและตรวจสอบพยานทั้งหมดแล้ว ศาลจะนำไปพิจารณาชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานทั้งหมด ก่อนพิพากษาคดี
  23. ในคำพิพากษา ศาลจะวิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมด และระบุว่าพยานเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือ หรือมีข้อพิรุธให้สงสัยอย่างไร พร้อมทั้งให้เหตุผล
  24. คดีแพ่ง ศาลชั่งน้ำหนักของพยานทั้งสองฝ่ายโดยเอามาเทียบกันใครน่าเชื่อกว่า แม้แต่นิดเดียว ฝ่ายนั้นชนะ (ใช้หลัก ความน่าจะเป็น หรือน่าเชื่อมากกว่า ไม่น่าเชื่อ probable cause)
  25. คดีอาญา ศาลฟังพยานโจทก์เป็นหลัก ถ้าไม่น่าเชื่อ ศาลจะยกฟ้องเลย ไม่ต้องฟังพยานจำเลย ถ้าพยานโจทก์น่าเชื่อ จะฟังพยานจำเลยต่อว่าน่าเชื่อหรือ ทำลายพยานโจทก์ได้บ้างมั้ย ถ้าฟังแล้ว ทำให้ศาลไม่แน่ใจในพยานโจทก์ คือ แค่สงสัย ศาลจะยกฟ้อง (ใช้หลัก เชื่อโดยปราศจากสงสัย ยกประโยชน์ให้จำเลย beyond reasonable doubt)
  26. การแพ้ หรือชนะในคดี จึงขึ้นกับว่า ฝ่ายใด จะหาพยานที่น่าเชื่อถือ มายืนยันข้ออ้าง หรือข้อต่อสู้ได้ตรงกับความเป็นจริงมากกว่ากันที่สำคัญ ระบบของไทย ศาลไม่ได้หาพยาน แต่คู่ความต้องหาพยานแม้จะไม่ผิด แต่ไม่มีพยาน ก็แพ้ได้

ตอนนี้ ได้ทราบเรื่องพยานหลักฐานแล้ว ต่อไปนี้ เวลาดูข่าวดัง จะได้ลองใช้เหตุผลตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นทีละข้อ จะได้ทราบว่า กฎหมายพยานพูดไว้อย่างไร และศาลจะคิดแบบไหน เหมือนกับที่สื่อนำเสนอมั้ย หรือเป็นจริงตามกระแสสังคมหรือความเชื่อของใครหรือไม่

อยากให้ประชาชนมั่นใจครับว่า ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือใครจะว่าอย่างไร ศาลไม่ได้ตัดสินคดีตามกระแสสังคม ตามความรู้สึก หรือตามความเชื่อส่วนตัว แต่ศาลตัดสินคดี โดยอาศัยเหตุผล ที่เกิดจากการพิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานที่ คู่ความเอามาแสดง โดยใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ดูเหตุผลของศาลได้ในคำพิพากษาครับ

พยานหลักฐานจึงมีความสำคัญมาก เมื่อเป็นคดีความ จึงอย่าได้เรียกร้องหาความจริง อยากได้ความเป็นธรรม โดยไม่แสวงหาพยานหลักฐานมายืนยัน เพราะศาลจะดูพยานหลักฐานในคดีเท่านั้น ถ้ามั่นใจว่า ตนไม่ผิดต้องเอาหลักฐานมาทำให้ศาลเชื่อว่าตนไม่ผิดด้วย ความเชื่อว่าตนบริสุทธิ์อย่างเดียว ไม่ช่วยให้ชนะคดีได้ ถ้าหาพยานมาเสนอศาลจนสุดความสามารถแล้ว

ได้แค่ไหนก็ขอให้ปล่อยวาง จงเชื่อว่า ความจริงจะปรากฎ ในคำพิพากษา แต่หากศาลไม่เห็นความจริงที่เสนอ ให้รีบอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นะครับ ยังมีศาลสูงคอยให้ความเป็นธรรมแก่ท่านอยู่ ถ้าจนถึงศาลฎีกาแล้ว ผลคำพิพากษาศาลฎีกาออกมา ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ คราวนี้ ก็คงต้องทำใจล่ะครับ

ผมมักจะสอนนิสิตนักศึกษาเสมอว่า ถ้าเราทำอะไร ไม่เต็มที่ แล้วไม่สำเร็จ เสียใจเถอะ และต้องโทษที่ตัวเราเอง แต่หากเราใช้ความพยายามจนสุดความสามารถแล้ว มันยังไม่สำเร็จ ก็จงโทษกรรม โทษเวร โทษผีสางเทวดา โทษอะไรก็ได้ แต่อย่าโทษตัวเอง ชีวิตยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย สิ่งดีๆ ยังรอเราอยู่อีกเยอะ ขอเป็นกำลังใจให้ ปลาทุกตัว ที่ยังว่ายทวนน้ำ อย่างมีความสุขนะครับ

ที่มา : ขอขอบคุณ ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์ ที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และอนุญาตให้สำนักงานกิจการยุติธรรมได้เผยแพร่ให้ประชาชนได้ความรู้