การนำใบกัญชาสดมาใช้ในการทำ ประกอบอาหาร หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการนั้น ในแต่ละเมนูต้องใส่ใบกัญชาสดที่ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมา และต้องไม่เกินกำหนดที่มีความอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งใบกัญชานั้นต้องสะอาด ไม่เป็นเชื้อรา หรือเน่าเสีย
ในใบกัญชาสด จะมีสารที่สำคัญอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ
1. สารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD) เป็นสารที่ช่วยทำให้ผ่อนคลาย แต่จะไม่ส่งผลต่อระบบประสาท
2. สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) เป็นสารที่ช่วยทำให้ผ่อนคลาย แต่ส่งผลระบบประสาทและทำให้เสพติดได้ หากใช้ในปริมาณที่มากเกินกำหนด โดยทั้งนี้ THC จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อโดนความร้อน ดังนั้นควรใช้อย่างระมัดระวัง หากมีปริมาณสาร THC เกิน 0.2% ของน้ำหนักอาหารหรือผลิตภัณฑ์ จัดเป็นยาเสพติดทันที
โดยกรมอนามัยได้เเนะนำปริมาณใบกัญชาที่เหมาะสมต่อการประกอบอาหารต่อเมนู ทั้ง ต้ม ผัด แแกง ทอด รวมถึงเครื่องดื่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ในจำนวนที่มากเกินไปจนก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ดังนี้
– อาหารประเภททอด : ใช้ใบกัญชา 1-2 ใบสด กรณีทำไข่เจียว แนะนำครึ่งใบ ถึง 1 ใบสด เนื่องจากสาร THC และ CBD ละลายได้ดีในน้ำมัน
– อาหารประเภทผัด : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด – อาหารประเภทแกง : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
– อาหารประเภทต้ม : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
– ผสมในเครื่องดื่ม ขนาด 200 มิลลิลิตร : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
การรับประทานต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง
– ควรเป็นเมนูกัญชาจากร้านที่ซื้อใบกัญชาจากแหล่งปลูกและแหล่งจัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว
– กินเมนูกัญชาในปริมาณน้อย หากเพิ่งเริ่มกินควรกินแค่ครึ่งใบ-1 ใบต่อวันก่อน เพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อฤทธิ์ของกัญชาแตกต่างกัน
– ไม่ควรกินกัญชาหลายเมนูในมื้อเดียว เพราะอาจได้รับสารเมาสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป
– ไม่ควรกินใบกัญชาแบบทั้งใบหรือใบที่ผ่านความร้อนแล้ว เกิน 5-8 ใบต่อวัน เพราะหากกินในปริมาณมาก อาจมีอาการผิดปกติ เช่น กินอาหารได้มาก พูดมาก หัวเราะร่วน หิวของหวาน คอแห้ง และตาหวานได้
– ระวังการกินเมนูกัญชาที่ผ่านความร้อน และการกินกัญชาร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง เพราะความร้อนและไขมันจะสกัดสาร THC ออกจากกัญชาได้มากขึ้น จึงไม่ควรกินมากเกินไป- ไม่ควรกินใบกัญชาแก่ หรือใบกัญชาตากแห้ง เพราะมีสาร THC มากกว่าใบกัญชาสด
– ไม่กินใบกัญชาร่วมกับแอลกอฮอล์- ควรจำกัดการกินใบกัญชากับคนบางกลุ่ม เพราะอาจได้รับผลกระทบมากกว่าประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยบุคคลที่ไม่ควรรับประทาน คือ
• เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
• สตรีที่มีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร
• ผู้ที่กินแล้วเกิดอาการผิดปกติ
• ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD
• ผู้ที่จะต้องขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล เพราะอาจทำให้ง่วงซึมได้
อ้างอิง :
1. ประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565
2. ประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565
3. พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 45 และ 46
4. กัญชาในอาหาร กินแล้วจะเมาไหม กินได้แค่ไหนไม่อันตรายต่อสุขภาพ