เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในอีก 90 วัน (วันที่ 23 มกราคม 2566) กฎหมายใหม่ฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความทันสมัยตามหลักสากล โดยการการกำหนดให้มีมาตรการพิเศษทางกฎหมายและทางปฏิบัติ เพื่อแก้ไขฟื้นฟู ป้องกัน และเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ สร้างความปลอดภัยให้สังคม รวมถึงแก้ไขปัญหาและลดการกลับมากระทำผิดซ้ำ
การใช้บังคับกับผู้ที่ทำความผิด 3 กลุ่ม ได้แก่ คดีเพศ คดีชีวิตและร่างกาย และคดีเรียกค่าไถ่ ซึ่งจะเน้นการใช้มาตรการที่เหมาะสมกับการแก้ไขฟื้นฟู/รักษา ผู้กระทำความผิด มากกว่าการลงโทษ มี 4 มาตรการ ได้แก่
(1) มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด รวมถึงมาตรการทางการแพทย์
(2) มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ
(3) มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
(4) การคุมขังฉุกเฉิน
สำหรับการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฯ และเตรียมความพร้อมก่อนมีผลบังคับใช้ มี 4 ฉบับ ได้แก่
(1) #กรมคุมประพฤติ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ การปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….
(2) #กรมราชทัณฑ์ ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดซ้ำ พ.ศ. ….
(3) #สำนักงานศาลยุติธรรม ร่างข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….
(4) #สำนักงานอัยการสูงสุด ร่างข้อบังคับของอัยการสูงสุดว่าด้วยการใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษและการคุมขังฉุกเฉิน พ.ศ. ….
ติดตามสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และเอกสารทางวิชาการ ได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานกิจการยุติธรรม https://www.oja.go.th/TH/svcp/
อ้างอิง : พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565