ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 – 849, 193/30
“นายหน้า” คือใคร มีลักษณะอย่างไร?
1. นายหน้าเป็นตัวกลางที่ช่วย “ชี้ช่อง” หรือ “จัดการ” ให้บุคคลอื่นได้เข้าทำสัญญากัน นายหน้าไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปกระทำการแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเข้าไปทำสัญญาแทนคู่สัญญา
2. นายหน้าเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีบทบังคับว่าต้องทำสัญญาเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น “สัญญานายหน้าจะตกลงกันเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้”
3. เมื่อนายหน้า “ได้ชี้ช่องหรือจัดการให้คู่สัญญาทำสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมมีสิทธิได้รับบำเหน็จ”
(ค่าตอบแทน) แม้ต่อมาคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะผิดสัญญาหรือเลิกสัญญาที่ทำไว้ก็ตาม
สัญญานายหน้า ตามปกติต้องถือว่ามีบำเหน็จ (ค่าตอบแทน) แม้จะไม่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่าต้องเสียค่าบำเหน็จนายหน้าเท่าใด ต้องถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2535
#สิทธิของนายหน้า
1. มีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จ (ค่าตอบแทน) เนื่องจากการทำหน้าที่ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลได้เข้าทำสัญญากัน
2. มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่เสียไป ถ้าได้ตกลงกันไว้ให้เรียกค่าใช้จ่ายที่เสียไปไว้ล่วงหน้า แม้ว่าสัญญาจะไม่ได้กระทำสำเร็จ
#สัญญานายหน้าไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ฟ้องบังคับกันได้
* ถ้าการชี้ช่องหรือจัดการให้ได้เข้าทำสัญญายังไม่เป็นผลสำเร็จ ก็ไม่มีสิทธิได้ค่านายหน้า แม้ต่อมาคู่สัญญาจะตกลงกันทำสัญญาใหม่เป็นสัญญาร่วมลงทุน แต่ก็ไม่ใช่สัญญาที่ได้เข้าทำโดยการชี้ช่องหรือจัดการของนายหน้าแต่อย่างใด ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2550 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7550/2550