“เมื่อการครองคู่สิ้นสุดลง ย่อมถือว่าทั้งฝ่ายชายและหญิงต่างมีอิสระที่จะคบหากับคนใหม่ หรือแม้จะสมรสใหม่ก็สามารถทำได้ หากเป็นฝ่ายชายสามารถจดทะเบียนสมรสใหม่ได้ทันทีหลังจากหย่าขาดกับภรรยาคนเก่า แต่ฝ่ายหญิงนั้นกลับทำไม่ได้…”
ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1453 ระบุว่า
“หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน”
สำหรับเหตุผลว่าทำไมต้อง 310 วัน ก็เพื่อป้องกันข้อพิพาทในอนาคต กล่าวคือ หากยอมให้ฝ่ายหญิงสมรสกับชายคนใหม่ทันที และในระหว่างนี้เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา อาจสับสนและมีข้อโต้แย้งได้ว่าใครเป็นพ่อของเด็กระหว่างสามีเก่ากับสามีใหม่ ทำให้ยากต่อการเลี้ยงดูบุตรและจัดการแบ่งมรดกต่าง ๆ ดังนั้นตามกฎหมาย ผู้หญิงจึงต้องเว้นระยะก่อนจดทะเบียนสมรสใหม่ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 310 วัน
อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายมาตรานี้ก็มีข้อยกเว้น สำหรับผู้หญิงที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน (หญิงหม้าย) จะสามารถจดทะเบียนสมรสใหม่ได้เลยก็ต่อเมื่อ
- คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
- สมรสกับคู่สมรสเดิม
- มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
- ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
จดทะเบียนสมรสใหม่ ต้องใช้ใบหย่าประกอบการจดทะเบียนด้วยไหม?
ถ้าเคยจดทะเบียนหย่าแล้ว การจดทะเบียนสมรสครั้งใหม่จำเป็นต้องใช้ทะเบียนหย่าเดิมประกอบเป็นหลักฐานการขอจดทะเบียนสมรสใหม่ด้วย แต่ถ้าใบสำคัญการหย่าเดิมหาย ให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจก่อน แล้วนำสำเนาใบแจ้งความไปขอคัดทะเบียนหย่า ณ สำนักทะเบียนอำเภอหรือเขตใดก็ได้ จากนั้นจึงค่อยใช้หลักฐานนี้มาจดทะเบียนสมรสใหม่
“การจดทะเบียนสมรสใหม่ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงอาจมีเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่เพราะความไม่เท่าเทียม หากแต่เพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย หมดห่วงเรื่องบุตรตามมาในภายหลังนั่นเอง…”
เสียงความรู้กฎหมาย ตอนที่ 189 หญิงหม้ายจดทะเบียนสมรสได้เมื่อไหร่
อ้างอิง: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1453,1501,1536)