เรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เป็นสิ่งที่เราเห็นในสังคมมานาน บางที่ถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายกันก็มี คนที่ตกเป็นเหยื่อหลายรายไม่กล้าบอกความจริงกับญาติ หรือไม่กล้าเข้าแจ้งความเอาผิด ยิ่งถ้าคนนอกอยากเข้าไปช่วย แล้วกลับเจอประโยค “เรื่องผัวเมียอย่ามายุ่ง!!” เจอแบบนี้ไป น้อยคยนักที่จะกล้าเข้าไปยุ่ง แต่การที่สามีภรรยาทะเลาะกันเป็นปกติแบบนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
การทะเลาะของสามีภรรยาถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายกันถือว่ามีความ “ผิด” ตามประมวลกฎหมายอาญา กำหนดโทษของคดีทำร้ายร่างกาย โดยเจตนาไว้หลายระดับ ตามความหนักเบาของบาดแผลที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำต่อบุคคลเฉพาะที่กำหนดไว้ หรือมีพฤติกรรมพิเศษ ดังนี้
มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือ จิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยกตัวอย่างเช่น ตบหน้ามีรอยแดงๆ ชกต่อยเพียงฟกช้ำไม่มีเลือดไหล ศีรษะโน เป็นต้น
มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าได้กระทำต่อบุคคลเฉพาะเจาะจง เช่น บุพการี เจ้าพนักงาน เป็นต้น หรือพฤติการณ์พิเศษ เช่น การวางแผนล่วงหน้า กระทำทารุณกรรม เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตราย สาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 200,000 บาท โดยกำหนดลักษณะบาดแผลซึ่งถือเป็นอันตรายสาหัสไว้ 8 ลักษณะ เช่น ตาบอด ใบหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือทำงานไม่ได้เกินกว่า 20 วัน เป็นต้น
ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300
อ้างอิง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ,296,297,297,391
พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 (มาตรา 4, 23)
กฎหมายน่ารู้ : บ้านไม่ใช่เวทีมวย! เราจึงต้องช่วยหยุดความรุนแรง