เสียงกฎหมาย ตอน โดนลูกหลง
Q: “ วันดีคืนดีเพื่อนบ้านที่รู้จักทะเลาะกัน ดันปาของมาโดนแขนเราเจ็บซะงั้น ประเด็นคือ เราไม่รู้ว่าเขาหรือแฟนของเขาเป็นคนปามาโดนเรา งงก็งง เจ็บก็เจ็บ แบบนี้จะไปเรียกค่าเสียหายจากเขาได้ไหมนะ? ”
A: คำตอบคือ “ได้” ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับเจ้าของที่พักหรือผู้เช่าอาศัยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 436 “บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดจากของตกหล่นจากโรงเรือน หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันไม่ควร”
ความผิดตามมาตรานี้ มีเหตุแห่งความเสียหายอยู่ 2 ส่วน
1. เกิดจากของตกหล่นจากโรงเรือน
2. เกิดจากการทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
ซึ่งเป็นความรับผิดของผู้อยู่ในโรงเรือน ในกรณีที่ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้เสียหายย่อมเรียกร้องให้มารับผิดตามกฎหมายมาตรา 420 ไม่ได้ แต่สามารถฟ้องร้อง “ผู้อยู่ในโรงเรือน” ตามมาตรา 436 ได้
ผู้อยู่ในโรงเรือน คือใคร?
ผู้ที่อยู่ในฐานะดูแลหรือเป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่รวมถึงบุคคลทุกคนที่อยู่ในโรงเรือน และไม่ได้หมายถึงเจ้าของโรงเรือนด้วย ยกเว้นเจ้าของจะเป็นผู้อยู่ในโรงเรือน คนที่เป็นผู้อาศัย คนใช้ หรือแขกที่มาเยี่ยมเยือนหรือมาอาศัยชั่วคราวไม่ใช่ผู้อยู่ในโรงเรือนตามมาตรานี้ แต่ถ้ามีผู้เช่าแยกเป็นสัดส่วนไปแล้ว เจ้าของไม่ต้องรับผิด ผู้เช่าเป็นผู้รับผิดตามมาตรา 436 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1689/2518)
ตัวอย่าง
ประสิทธิ์จัดงานเลี้ยงฉลองปริญญาที่บ้านของตัวเองโดยเชิญเพื่อนๆมาในงานเป็นจำนวนมาก ขณะดื่มสุรากันอยู่บนระเบียงบ้าน สุเทพเพื่อนที่ประสิทธิ์เชิญมาในงาน เกิดเมาสุราได้ปาขวดเบียร์ไปโดนหัวของดำ ซึ่งกำลังเดินอยู่ที่ถนนได้รับบาดเจ็บ ขณะเดียวกันสมศรีเพื่อนของประสิทธิ์ที่มาช่วยทำอาหารให้ในงาน ได้เทน้ำร้อนในหม้อทิ้งข้ามรั้วบ้านของประสิทธิ์เข้าไปในที่ดินของคนอื่นที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งประสิทธิ์เองใช้เป็นที่ทิ้งเศษอาหารอยู่เป็นประจำ เผอิญมีสุนัขมาหาเศษอาหารกินบริเวณนั้นจึงถูกน้ำร้อนที่สมศรีเทข้ามมา ลวกตามตัวได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นดำและเจ้าของสุนัขจะฟ้องใครให้รับผิดชอบในทางละเมิดได้บ้าง?
คำตอบ :
ดำฟ้องสุเทพให้รับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ได้ เพราะสุเทพกระทำโดยจงใจให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายต่อร่างกาย ย่อมเป็นละเมิดและต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีนี้ประสิทธิ์เจ้าของบ้านไม่ต้องรับผิดในกรณีทิ้งขว้างหรือสิ่งของตกหล่นตาม มาตรา 436 เพราะกรณีเช่นนี้ความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยจงใจของสุเทพ ซึ่งต้องรับผิดโดยหลักทั่วไปอยู่แล้ว
สมศรีไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของสุนัขที่ได้รับบาดเจ็บ เพราะสมศรีได้ทิ้งขว้างสิ่งของไปโดยปกติวิสัย มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ขณะเดียวกันการทิ้งขว้างของสมศรีก็ไม่ต้องรับผิดตาม มาตรา 436 เพราะถือว่าเป็นการทิ้งขว้างไปตกในที่อันสมควร กรณีเช่นนี้ประสิทธิ์ในฐานะเจ้าของบ้านเป็นผู้อยู่ในโรงเรือนก็ไม่ต้องรับผิดตาม มาตรา 436 เช่นเดียวกัน
ข้อสังเกต : กรณีความผิดเกิดจากการทิ้งขว้างของไปตกในที่อันไม่ควร
1. “ของ” ที่ทิ้งขว้างจะเป็นอะไรก็ได้ และต้องทิ้งขว้างมาจาก “โรงเรือน” เท่านั้น หากทิ้งขว้างจากสิ่งอื่น เช่น รถยนต์ เรือ จะไม่อยู่ในบังคับมาตรา 436
2. การ “ทิ้งขว้าง” คือการกระทำของบุคคลที่ตั้งใจทิ้งขว้าง จะทิ้งขว้างไปตกที่ใดก็ได้แต่ไปตกในที่อันไม่ควร หากเป็นการอันควรทิ้งขว้างได้ เช่น กองขยะหรือถังขยะ ก็ไม่อยู่ในบังคับมาตรานี้
3. ผู้อยู่ในโรงเรือนที่จะต้องรับผิด คือ ในกรณีที่มีการทำของตกหล่นหรือทิ้งขว้าง ซึ่งหมายถึง การที่หาตัวผู้ทำความผิดไม่ได้ จึงให้ผู้อยู่ในโรงเรือนรับผิดโดยอาจจะเป็นผู้ทำเองหรือไม่ได้ทำก็ได้ แต่ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว บุคคลนั้นต้องรับผิดตามกฎหมายละเมิดมาตรา 420 ไม่ต้องวินิจฉัยมาตรา 436
อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 436