ที่ดินของรัฐ คือ ที่ดินที่รัฐเป็นเจ้าของและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารจัดการโดยหน่วยงานรัฐ ซึ่งการบริหารจัดการจะมีกฏหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานเป็นการเฉพาะในการดูแลรักษา แต่สามารถขออนุญาตเพื่อทำประโยชน์ ได้
1. ป่าสงวนแห่งชาติ
ป่าสงวนแห่งชาติ : ป่าที่ประกาศไว้เพื่อสงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีหลักเขตและป้ายเครื่องหมายเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยติดประกาศไว้ที่อำเภอ กิ่งอำเภอ และที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหมู่บ้าน
ห้ามยึดถือ/ครอบครอง/ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัย/ก่อสร้าง/แผ้วถาง/เผาป่า/ทำไม้/เก็บหาของป่าหรือทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพ
ยกเว้นได้รับอนุญาต
บทลงโทษ : จำคุก 1 – 10 ปี และปรับ 20,000 – 200,000 บาท
สอบถามเพิ่มเติม : สายด่วนกรมป่าไม้ 1310 กด 3
2. อุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติ : พื้นที่ที่มีความโดดเด่นสวยงามทางธรรมชาติเป็นพิเศษ หรือมีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า หรือพื้นป่าประจำถิ่นที่มีความหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ หรือโดดเด่นด้านธรณีวิทยา หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่สมควรสงวนหรืออนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์ของคนในชาติหรือเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติหรือนันทนาการของประชาชนอย่างยั่งยืน
ห้ามยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือทำให้เสื่อมสภาพ/เปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม
ข้อห้ามและข้อปฏิบัติ น่ารู้เมื่อเข้าในเขตอุทยาน เช่น
- เก็บหา นำออกไป ทำให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ
- ล่อ/นำสัตว์ออกไป/ทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์
- เปลี่ยนทางน้ำ/ทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึง ทะเล ท้วมท้น/เหือดแห้ง/เน่าเสีย/เป็นพิษ
- ปิดกั้น/ทำให้กีดขวางทางน้ำหรือทางบก
- เข้าไปทำกิจการเพื่อหาประโยชน์
- นำเครื่องมือล่าสัตว์/จับสัตว์/อาวุธเข้าไป
- ยิงปืน/ทำให้เกิดระเบิด/จุดดอกไม้เพลิง
- ทิ้งสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงที่อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้
- ทำหลักเขต/เครื่องหมายแสดงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ เคลื่อนที่/ลบเลื่อน/สูญหาย/ไร้ประโยชน์
- บุคคลที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ (ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่)
- บุคคลที่นำ/ปล่อยสัตว์เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ (ต้องได้รับอนุญาต)
- ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use plastics) เข้าเขตอุทยานแห่งชาติ
บทลงโทษ : ถ้าเกิดความเสียหาย : ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย/ สูญหาย/เสียหาย/และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู (ถ้ามี)
สอบถามเพิ่มเติม : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0-2561-0777
3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า : พื้นที่สภาพธรรชาติสมควรอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างปลอดภัย และรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศให้คงเดิม
ห้ามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง
สอบถามเพิ่มเติม :
(1) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2561 0777
(2) กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 0 2562 0600-15
4. เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า : ที่ดินของรัฐที่ประกาศเขตอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งหากินของสัตว์ป่า
สอบถามเพิ่มเติม : (1) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2561 0777
5. ป่าชายเลน
ป่าชายเลน : ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่ประกอบด้วยพืชและสัตว์นานาชนิด ดำรงชีวิตร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อย หรือมีน้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอ
สอบถามเพิ่มเติม : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โทร. 0 2141 1296-99
6. ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี
ป่าไม้ถาวร : พื้นที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 และพื้นที่ป่าที่จะเปิดจัดสรรเพื่อเกษตรกรรมหรือเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่นำมาดำเนินการสำรวจจำแนกประเภทที่ดินตามขั้นตอนการจำแนกประเภทที่ดิน
สอบถามเพิ่มเติม : (1) กรมป่าไม้ สายด่วน 1310 กด 3 (2) กรมพัฒนาที่ดิน
7. เขตปฏิรูปที่ดิน หรือ เขต ส.ป.ก.
ความหมายของที่ดิน ส.ป.ก.ในปัจจุบัน ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน
8. ที่ราชพัสดุ
อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังต่อไปนี้
– ที่ดินรกร้างว่างเปล่าและที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตาม กฎหมายที่ดิน
– อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล และขององค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ
9. ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์รวมกันหรือที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่สาธารณประโยชน์ หมายถึง ที่ดินที่ทางราชการได้จัดให้หรือสงวนไว้เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามสภาพแห่งพื้นที่นั้น หรือที่ดินที่ประชาชนได้ใช้หรือเคยใช้ประโยชน์ร่วมกันมาก่อนไม่ว่าปัจจุบันจะยังใช้อยู่หรือเลิกใช้แล้วก็ตาม เช่น ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าช้าฝังและเผาศพ ห้วย หนอง ที่ชายตลิ่ง ทางหลวง ทะเลสาบเป็นต้น
10. โฉนดชุมชน
การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลและบริหารจัดการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ โดยการครอบครองที่ดินและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดิน เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรในการผลิตพืชอาหาร ที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ระบบภูมินิเวศน์ และดูแลสิ่งแวดล้อมให้สมดุล
11. นิคมสร้างตนเอง
บริเวณที่ดินของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเอง เพื่อให้ราษฎรได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น
12. นิคมสหกรณ์
นิคมสหกรณ์ คือ บริเวณที่ดินที่รัฐได้ออกกฏหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่แล้วจัดการพัฒนาปรับปรุงที่ดิน ให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยและประกอบอาชีพการเกษตร จากนั้นจึงจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรที่เดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีน้อยแต่ไม่พอทำกิน ได้มีที่ดินประกอบอาชีพและตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งพร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกร รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์