ค้นหา

ผู้ประกอบการต้องรู้…ถ้าขายเมนูกัญชา

คิดจะขายอาหารที่มีส่วนประกอบจากกัญชา ต้องรู้ !! หลักเกณฑ์และข้อกำหนดการนำใบกัญชามาใช้ทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค

#สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้และเอาส่วนไหนมาใช้ทำอาหารได้บ้าง ?
กัญชา เป็นพืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่เป็นส่วนของพืชกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และสามารถนำมาใช้เป็นประกอบอาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารได้ คือ ใบของพืชกัญชาสด ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมา.“ใบกัญชา” หมายความว่า ใบของพืชกัญชาสดซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมา (Cannabis) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis indica Lam. หรือ Cannabis sativa L. ซึ่งผู้ประกอบการหรือแม่ค้านำใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารได้ เช่น ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะได้

#ทำหรือปรุงอาหารได้ที่ไหน ?
“สถานประกอบกิจการอาหาร” ที่ต้องการนำใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร เพื่อจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหาร โดยต้องจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ เป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย และควบคุม กำกับการจำหน่วยอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านความปลอดภัยของอาหารที่จำหน่าย มีที่ไหนบ้าง
– ตลาด เช่น ตลาดสด ตลาดนัด
– สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร
– การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ (พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เช่น ร้านค้าแผงลอย รถเข็นอาหาร

#สถานประกอบกิจการอาหารและผู้ประกอบการต้องแจ้ง !
ร้านค้าหรือร้านอาหาร ต้องสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ดังนี้
1) จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
2) แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
3) แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร
4) แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ ตาม QR Code แนบท้ายประกาศนี้
5) แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคทราบ ดังต่อไปนี้
(ก) ข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”
(ข) ข้อความ “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที”
(ค) ข้อความ “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน”
(ง) ข้อความ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
6) ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกัน หรือรักษาโรค

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือมีการดำเนินกิจการที่อาจก่อให้เกิดเหตุอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถสั่งแก้ไขหรือปรับปรุงให้ถูกต้องได้ และถ้าหากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการการแก้ไขใดๆ เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถสั่งให้หยุดดำเนินกิจการไว้ได้ในทันที หรือชั่วคราวไปจนกว่าจะเป็นที่พอใจว่าได้ปราศจากอันตรายแล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะกำหนดระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งไว้ตามสมควร เว้นแต่กรณีที่มีคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการทันที ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 45 และ 46

อ้างอิง :
1. ประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565
2. ประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565
3. พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 45 และ 46