ความผิดฐานรับของโจร คือ ?
ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้น
เข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร
* ต้องมีการกระทําความผิดมูลฐาน (9 ฐานความผิด) สําเร็จก่อน จึงจะมีการกระทําความผิดฐานรับของโจรต่อไปได้
* ความผิดฐานรับของโจร “ต้องรู้ข้อเท็จจริง” ว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด
การจะรู้หรือไม่รู้ข้อเท็จจริง หรือ มีเจตนารับของโจรหรือไม่นั้น ศาลจะพิจารณาจากพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่น ราคาทรัพย์สินที่รับซื้อมาต่ำผิดปกติหรือไม่ หรือมีรอยมีร่องรอยการโจรกรรม เช่น รถมอเตอร์ไซค์ซื้อมามีรอยงัดเบ้ากุญแจ ไม่มีแม่กุญแจ มีการตีเลขทะเบียนปลอม มีราคาถูกกว่าท้องตลาดมากทั้งๆที่มีราคาแพง มีการเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์อย่างมีนัย อาวุธปืนที่ซื้อมามีการขูดลบเลขทะเบียน ผู้ขายทรัพย์ซึ่งมีทะเบียนไม่มีเอกสารทางทะเบียนมาแสดง เป็นต้น เช่นนี้ ผู้ที่รับซื้อหรือรับทรัพย์นั้นมาย่อมจะต้องรู้ได้ว่าทรัพย์สินนั้นน่าจะเป็นของที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย
โทษของผู้กระทำความผิดฐานรับของโจร : รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตัวอย่างคำพิพากษา
– คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2093/2529 จำเลยมีอาชีพซ่อมรถจักรยานยนต์ได้นำรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายซึ่งถูกชิงทรัพย์ไปจำนำ โดยมิได้นำทะเบียนรถไปแสดง เมื่อถูกกล่าวหาก็อ้างแต่เพียงว่าเป็นรถของ ส.โดยมิได้นำตัว ส.มาสืบ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร
– คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6771/2542 การที่จำเลยอ้างว่าดับจำนำอาวุธของกลางซึ่งถูกคนร้ายรักไปไว้จากตอ. ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปีและไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนโดยไม่ได้ขอดูหลักฐานใบอนุญาตให้มีและใช้ อาวุธปืนของบิดาต่อ. และรับจำนำไว้ในราคาเพียง 3500 บาททั้งที่จำเลยนำไปขายต่อยังได้ราคาถึง 10,000 บาทแสดงว่าจำเลยรับจำนำไว้ในราคา
ที่ต่ำผิดปกติและมีพิรุธ ตั้งอาวุธปืนดังกล่าวมีร่องรอยการขุดลบหมายเลขทะเบียนไม่สามารถอ่านได้แสดงว่าอาวุธปืนดังกล่าวถูกเปลี่ยนมือไปในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีการขูดลบหมายเลขทะเบียนเพื่อทำลายหลักฐานศาลให้เห็นว่าจำเลยรับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำ
เหตุที่รับโทษความผิดรับของโจรหนักขึ้น ตามกฎหมาย
เหตุ (ฉกรรจ์) ที่ทำให้รับโทษความผิดฐานรับของโจรหนักขึ้น ได้เเก่
- การกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ : รับโทษจำคุก 6 เดือน – 10 ปี และปรับ 10,000 – 200,000 บาท
*การลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) คือ การลักทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
- การกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ : รับโทษจำคุก 5 – 15 ปี และปรับ 100,000 – 300,000 บาท
*ลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ
1. มาตรา 335 ทวิ วรรคเเรก = ลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนาที่เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนหรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ /ส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูปหรือวัตถุ
2. มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง = ลักทรัพย์มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ที่ประดิษฐานอยู่ในวัด/สำนักสงฆ์/สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา/โบราณสถาน อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน/สถานที่ราชการ/พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
*ชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ
1. มาตรา 339 ทวิ วรรคแรก = ชิงทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก
2. มาตรา 339 ทวิ วรรคสอง = ชิงทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ในสถานที่ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสอง
3. มาตรา 339 ทวิ วรรคสาม = ชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ วรรคแรก และวรรคสอง จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
4. มาตรา 339 ทวิ วรรคสี่ = ชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ วรรคแรก และวรรคสอง จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
5. มาตรา 339 ทวิ วรรคห้า = ชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ วรรคแรก และวรรคสองจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต
*ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ
1. มาตรา 340 ทวิ วรรคแรก = ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก
2. มาตรา 340 ทวิ วรรคสอง = ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ในสถานที่ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสอง
3. มาตรา 340 ทวิ วรรคสาม = ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ วรรคแรก และวรรคสอง โดยผู้กระทำมีอาวุธไปด้วย
4. มาตรา 340 ทวิ วรรคสี่ = ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ วรรคแรก และวรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
5. มาตรา 340 ทวิ วรรคห้า = ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ วรรคแรก และวรรคสอง โดยกระทำทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือทรมาน
6. มาตรา 340 ทวิ วรรคหก = ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ วรรคแรก และวรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต
อ้างอิง: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 335 (10), 335 ทวิ, 339 ทวิ, 340 ทวิ