#เจตนาเล็งเห็นผล : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?
“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59
- บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
- กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
- ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
- กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
- การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
จากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ข้างต้นนั้น ได้กล่าวถึงคำว่า “เจตนา” ซึ่งหมายถึงการกระทำโดยรู้สำนึก หรือก็คือ ทำโดยตั้งใจทำ สมองสั่งให้ทำ บังคับกายใจได้ตามปกติ.แต่คำว่า “เจตนา” นั้น
ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ
1. เจตนาประสงค์ต่อผล
2. เจตนาเล็งเห็นผล..เจตนาประสงค์ต่อผล คือ มีการกระทำโดยต้องการให้เกิดผลนั้นขึ้น ต้องการอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น เช่น ต้องการให้เขาตาย จึงฆ่าเขา แต่ “เจตนาเล็งเห็นผล” นั้น แตกต่างออกไปเพียงเล็กน้อย นั่นก็คือ…มีการกระทำที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ไม่ได้ต้องการให้เกิดผล แต่ในตอนทำนั้น รู้ว่าผลนั้นจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
(คำพิพากษาฎีกาที่ 1178/2539) จำเลยใช้ก้อนหินโตเท่ากำปั้นขว้างกระจกหน้ารถบรรทุกและรถโดยสาร คันละ 2 ก้อน การกระทำอย่างนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ถ้ารถคว่ำ คนที่อยู่ในรถอาจถึงแก่ความตายได้ จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าคน ถ้ามีคนตายจำเลยคนนี้จะมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ถ้าไม่มีคนตาย ก็จะมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตาย
*ไม่ว่าจะทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล หรือ เจตนาเล็งเห็นผล มีค่าเท่ากันคือ ถือว่ากระทำโดยเจตนา มีความผิดและต้องรับโทษเต็มๆเหมือนกัน