ตามมาตรา 78 ประมวลกฎหมายอาญา
“เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควร จะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน”
เหตุบรรเทาโทษตามกฎหมายมี 7 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา
2. เป็นผู้ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส
3. มีคุณความดีมาแต่ก่อน
4. รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น
5. ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน
6. ให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา
7. เหตุอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกันเหตุที่จะถือเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
นอกจากที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ก็ยังมีเหตุอื่น ๆ อีก เช่น อายุน้อย บันดาลโทสะ จำเป็นหรือป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ โดยลดโทษได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแม้มีเหตุบรรเทาโทษหลายประการ ตามมาตรา 78 แต่ศาลสามารถลดให้ได้รวมกันเพียงหนเดียว และถึงแม้จะมีเหตุบรรเทาโทษ แต่หากศาลพิจารณาตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่า ไม่สมควรลดโทษให้ ศาลก็อาจไม่ลดโทษให้ตามเหตุบรรเทาโทษก็ได้
ตัวอย่าง : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2548
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2546 เวลากลางคืน ก่อนเที่ยงจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีอาวุธปืนยาวประจุปาก (ปืนแก๊ป) ชนิดประกอบขึ้นเอง ขนาดกว้างลำกล้อง 9 มิลลิเมตร ใช้ยิงได้จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืน 1 นัด ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยพาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์และจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายกาญจนบุรี เทพเมย ผู้เสียหาย 1 นัด ถูกบริเวณคอและชายโครงของผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เนื่องจากจำเลยโกรธเคืองที่ผู้เสียหายทวงค่าน้ำมันที่จำเลยไปเติมน้ำมันในสถานีบริการน้ำมันที่ผู้เสียหายทำงานอยู่ในลักษณะเหมือนกับว่าจำเลยจะโกงผู้เสียหาย จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเพราะกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญ และแพทย์ได้ทำการรักษาไว้ทันท่วงที ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 288, 289,371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72, 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), ประกอบมาตรา 80, 52, 53 มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานมีและพกอาวุธปืน 2 กระทง มีกำหนด 9 เดือน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุก 25 ปี รวมจำคุก 25 ปี 9 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้จำคุก 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เฉพาะความผิดฐานนี้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก 2 ปี รวมกับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เป็นจำคุก 2 ปี 9 เดือน ข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยาวประจุปาก (ปืนแก๊ป) ชนิดประกอบขึ้นเอง ยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ นำสืบว่า เหตุที่จำเลยยิงผู้เสียหาย เนื่องจากผู้เสียหายทวงถามเงินค่าน้ำมันจากจำเลย การที่จำเลยโกรธผู้เสียหาย เนื่องจากถูกทวงถามเงินดังกล่าวแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์เสียงดังใส่หน้าผู้เสียหาย ต่อมาประมาณ 30 นาที จึงได้กลับมาพร้อมใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายนั้น กรณีไม่ใช่เกิดโทสะแล้วยิงผู้เสียหายทันที หากแต่เป็นกรณีเกิดโทสะและออกจากที่เกิดเหตุแล้วประมาณ 30 นาที ซึ่งมีเวลาที่จำเลยคิดไตร่ตรองแล้วจึงหวนกลับมาพร้อมนำอาวุธปืนซึ่งนับว่าเป็นอาวุธที่ร้ายแรงยิงผู้เสียหายถือว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหายในระยะห่าง 20 เมตร กระสุนปืนถูกบริเวณคอด้านหน้าขวาและบริเวณชายโครงขวาด้านหน้าทั้งสองแห่งมีบาดแผลขนาด 0.5 เซนติเมตร ไม่มีความลึกแพทย์ลงความเห็นว่ารักษาหายภายใน 7 วัน แสดงให้เห็นว่ากระสุนปืนไม่มีความรุนแรงพอที่จะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุอาวุธปืนซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิดการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบ มาตรา 81 วรรคหนึ่ง เท่านั้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 วรรคหนึ่ง, 52 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วเป็นจำคุก 2 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา : http://deka.supremecourt.or.th/