#หมายปล่อย : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?
คำว่า “หมายปล่อยนั้น” นั้น หมายถึง หนังสือที่ออกโดยศาล สั่งให้ปล่อยตัวบุคคล หรือ ผู้ต้องหา หรือ จำเลยที่ต้องขัง หรือ จำคุกตามหมายศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้อธิบายหลักเกณฑ์การใช้หมายปล่อยไว้ดังนี้
มาตรา 72 หมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ตามหมายศาล ให้ออกในกรณีต่อไปนี้
1. เมื่อศาลสั่งปล่อยชั่วคราว
2. เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนขอให้ศาลปล่อย โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขังไว้ระหว่างสอบสวน
3. เมื่อพนักงานอัยการร้องต่อศาลว่าได้ยุติการสอบสวนแล้ว โดยคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
4. เมื่อพนักงานอัยการไม่ฟ้องผู้ต้องหาในเวลาที่ศาลกำหนด
5. เมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและสั่งให้ยกฟ้อง เว้นแต่เมื่อโจทก์ร้องขอและศาลเห็นสมควรให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา
6. เมื่อโจทก์ถอนฟ้องหรือมีการยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว หรือเมื่อศาลพิจารณาแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกฟ้อง เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา
7. เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษจำเลยอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษประหารชีวิต จำคุกหรือให้อยู่ภายในเขตที่อันมีกำหนด ถ้าโทษอย่างอื่นนั้นเป็นโทษปรับเมื่อจำเลยได้เสียค่าปรับแล้ว หรือศาลให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีกำหนดวันเพื่อให้จำเลยหาเงินค่าปรับมาชำระต่อศาล
มาตรา 73 คดีใดอยู่ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ถ้าจำเลยต้องควบคุมหรือขังมาแล้วเท่ากับหรือเกินกว่ากำหนดจำคุกหรือกำหนดจำคุกแทนตามคำพิพากษา ให้ศาลออกหมายปล่อยจำเลย เว้นแต่จะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่นในกรณีที่โจทก์ อุทธรณ์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มโทษ
มาตรา 75 เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกถูกจำครบกำหนดแล้ว หรือได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อย หรือมีคำวินิจฉัยให้ปล่อยตัวไปโดยมีเงื่อนไข หรือมีกฎหมายยกเว้นโทษหรือโทษจำคุกนั้นหมดไปโดยเหตุอื่น ให้ศาลออกหมายปล่อยผู้นั้นไป
มาตรา 76 หมายขัง หมายจำคุก หรือหมายปล่อย ต้องจัดการตามนั้นโดยพลัน