ค้นหา

คำนี้ในกฎหมาย: หมายขัง

#หมายขัง : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?

คำว่า “หมายขัง” นั้น หมายถึง หนังสือที่ออกโดยศาล สั่งให้ขังตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ไว้ระหว่างที่มีการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 กล่าวว่า

” มาตรา 71 เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมายขังคงใช้ได้อยู่จนกว่าศาลจะได้เพิกถอน โดยออกหมายปล่อยหรือออกหมายจำคุกแทน ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีหรือเป็นหญิงมีครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตรมาไม่ถึงสามเดือน หรือเจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ศาลจะไม่ออกหมายขังหรือจะออกหมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกขังอยู่นั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ห้ามศาลที่จะมีคำสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานหรือบุคคลที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ถ้าศาลมีคำสั่งเช่นว่านี้ในระหว่างสอบสวน ให้ใช้ได้ไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันมีคำสั่ง แต่ถ้ามีคำสั่งในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือระหว่างพิจารณา ให้ใช้ได้จนกว่าจะเสร็จการพิจารณา หากภายหลังที่ศาลมีคำสั่ง ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไม่ปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือพิจารณาออกหมายขังได้ตามที่เห็นสมควร”

ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548 หมวดที่ 3 ได้อธิบายการร้องขอและการออกหมายขังไว้ดังนี้

การร้องขอ

ข้อ 39 ในระหว่างสอบสวน พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนอาจยื่นคำร้องให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87

ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ หากศาลสั่งไต่สวนมูลฟ้องก่อนมีคำสั่งประทับฟ้อง ศาลจะออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างไต่สวนมูลฟ้องตามข้อ 43 ก็ได้

ข้อ 40 พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนซึ่งร้องขอให้ศาลออกหมายขัง จะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับคดีหรือสอบสวนคดีที่ร้องขอออกหมายนั้นและต้องพร้อมที่จะมาให้ผู้พิพากษาสอบถามก่อนออกหมายได้ทันที

ข้อ 41 คำร้องขอให้ศาลออกหมายขัง

(1) ต้องระบุชื่อ ชื่อสกุล อายุ อาชีพของผู้ต้องหาหรือจำเลย ข้อหา วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่สนับสนุนเหตุแห่งการออกหมายขังและระยะเวลาที่จะขอให้ศาลสั่งขัง

(2) ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นศาลได้ออกหมายจับไว้ ให้แสดงหมายหรือระบุรายละเอียดของหมายดังกล่าว

(3) ในกรณีที่เป็นการร้องขอครั้งแรกในระหว่างสอบสวนต้องระบุวันเวลาที่จับกุม รวมทั้งวันเวลาที่ผู้ต้องหาถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนไว้ด้วย

ในกรณีที่พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะร้องขอให้ขังจำเลยระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา โจทก์ต้องระบุความประสงค์เช่นว่านั้น รวมทั้งรายละเอียดตามวรรคหนึ่งมาในคำฟ้อง

การไต่สวนและการออกหมาย

ข้อ 42 ในกรณีที่เป็นการร้องขอหมายขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน ก่อนที่จะออกหมายขังให้ตามคำขอนั้น ให้ผู้พิพากษาสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ หากมีข้อคัดค้านผู้พิพากษาอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น โดยจะให้นำพยานหลักฐานมาให้ผู้พิพากษาไต่สวนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้

เมื่อผู้ต้องหาต้องขังในระหว่างสอบสวนครบ 48 วันแล้ว หากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนร้องขอให้ขังผู้ต้องหานั้นต่อไปอีก จะต้องอ้างเหตุจำเป็นมาในคำร้องขอด้วย และผู้พิพากษาจะสั่งอนุญาตให้ขังต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนได้แสดงถึงเหตุจำเป็นดังกล่าว และได้นำพยานหลักฐานมาให้ผู้พิพากษาไต่สวนจนเป็นที่พอใจแก่ผู้พิพากษาแล้ว

ในการไต่สวนตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ผู้ต้องหามีสิทธิแต่งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยาน ถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความ ให้ผู้พิพากษาสอบถามผู้ต้องหาว่าต้องการทนายความหรือไม่ หากผู้ต้องหาต้องการ ให้ผู้พิพากษาตั้งทนายความให้เมื่อทนายความผู้นั้นได้ทำหน้าที่แล้วให้ผู้พิพากษากำหนดจำนวนเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายให้ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณของศาล

ข้อ 43 ก่อนที่ศาลจะออกหมายขังตามข้อ 39 หรือกรณีที่ศาลจะขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาจะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ผู้พิพากษาจะออกหมายขังนั้นเป็นผู้ซึ่งศาลได้ออกหมายจับไว้หรือต้องขังตามหมายศาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีผู้ร้องขอหรือไม่ ผู้พิพากษาจะออกหมายขังผู้นั้นต่อไปโดยไม่ต้องไต่สวนตามวรรคหนึ่งก็ได้