อย่ากังวลหรือกลัว….ถ้าคุณต้องเป็นพยาน หรือ ให้การในชั้นศาล เพราะคุณจะได้รับการ คุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546
พยาน หมายความว่า พยานบุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริง ต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือศาลในการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งผู้ชำนาญการพิเศษ แต่มิให้หมายความรวมถึงจำเลยที่อ้างตนเอง เป็นพยาน
สิทธิของพยานในคดีอาญา ตามกฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 มีดังนี้
1.สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยเมื่อถูกคุกคามในฐานพยานในคดีอาญา รวมถึงผู้ใกล้ชิดของพยานในคดีอาญา
2.สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม
3.สิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนจากการมาให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานสอบสวนหรือเบิกความต่อศาล
4.สิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง ทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการเป็นพยานในคดีอาญา
5.สิทธิที่จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองพยานในคดีอาญา
“มาตรการทั่วไป” ในการคุ้มครองพยานในคดีอาญา
ขั้นตอนการดำเนินการ
การยื่นคำร้อง กรณีพยานในคดีอาญาได้รับการข่มขู่คุกคาม พยานสามารถร้องขอ ใช้มาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยานตามกฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ได้ที่ : สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ
การสั่งใช้มาตรการทั่วไป มี 2 กรณี
1. กรณีประสานการส่งต่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานอื่น การดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานนั้นๆ โดยสำนักงานคุ้มครองพยาน จะสนับสนุนงบประมาณและประสานการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด
2. กรณีสำนักงานคุ้มครองพยานดำเนินการเอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีอำนาจ สั่งใช้หรือไม่ใช้มาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยาน
การดำเนินการคุ้มครองพยาน กรณีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพสั่งใช้มาตรการทั่วไป สำนักงานคุ้มครองพยานจะกำหนดมาตรการการคุ้มครองพยานตามความเหมาะสม แก่สถานะภาพของพยาน ลักษณะความร้ายแรงของคดี โดยมาตรการการคุ้มครองพยานที่ดำเนินการในปัจจุบัน อาทิ การจัดเจ้าหน้าที่คุ้มครอง การนำพยานไปอยู่ที่ปลอดภัย การย้ายที่อยู่ เป็นต้น
การอุทธรณ์ กรณีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีคำสั่งไม่รับคำร้อง หากผู้ได้รับคำสั่งไม่พอใจ ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้น โดยยื่นอุทธรณ์ได้ที่ศาลยุติธรรมชั้นต้น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
“มาตรการพิเศษ” ในการ คุ้มครองพยาน ในคดีอาญา
มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานเป็นมาตรการคุ้มครองที่ยกระดับความสำคัญของการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับพยาน โดยคดีที่จะร้องขอรับการคุ้มครองจะต้องเป็นคดี ตามที่กฎหมายคุ้มครองพยานกำหนดไว้ และต้องพิจารณาถึงความร้ายแรงแห่งคดีและการกระทำผิด ที่มีลักษณะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอาชญากรรม กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงแห่งรัฐ
ขั้นตอนการดำเนินการ
ยื่นคำร้อง กรณีปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุสงสัยว่าพยานในคดีอาญาจะไม่ได้รับความปลอดภัย บุคคลดังต่อไปนี้ สามารถยื่นคำร้องขอใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน
– พยานหรือผู้รับมอบอำนาจจากพยาน
– บุคคลซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องกับพยาน
– พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวน สอบสวน คดีอาญา
– พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา
การสั่งใช้มาตรการพิเศษ เมื่อคำร้องขอรับการคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจสั่งการให้ใช้หรือไม่ให้ใช้มาตรการเศษในการคุ้มครองพยาน
ดำเนินการคุ้มครองพยาน สำนักงานคุ้มครองพยานหรือหน่วยงานที่ร้องขอจะกำหนดมาตรการคุ้มครองพยานภายใต้ความเหมาะสมแก่สถานสภาพของพยาน ลักษณะและความร้ายแรงของคดี โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือ เช่น การจัดเจ้าหน้าที่คุ้มครอง การย้ายที่อยู่ การจ่ายค่าเลี้ยงชีพ เป็นต้น
การอุทธรณ์ กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีคำสั่ง ไม่รับคำร้อง หากผู้ได้รับคำสั่งไม่พอใจคำสั่งก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้น โดยยื่นได้ที่ศาลยุติธรรมชั้นต้น หรือศาลทหารชั้นต้นที่มีเขตอำนาจเหนือคดี หรือที่บุคคลนั้นมีที่อยู่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
คดีอาญาที่พยานสามารถร้องขอรับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษ
– คดีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
– คดีตามกฎหมายว่าด้วยการปราบปรามการฟอกเงิน
– คดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
– คดีตามกฎหมายว่าด้วยศุลกาการ
– คดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
– คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ
– คดีความผิดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม
– คดีความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
– คดีที่สำนักงานคุ้มครองพยานเห็นสมควรให้ความคุ้มครอง
ติดต่อขอรับบริการได้ที่
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานคุ้มครองพยาน ชั้น 5
อาคารกระทรวงยุติธรรมถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210
โทรสายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77 หรือ 0 2141 2951, 0 2141 2961
ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย แบบ Video call *ผ่าน LINE ID : rlpdconsultation
เว็บไต์ : สำนักงานคุ้มครองพยาน
ส่วนภูมิภาค
ติดต่อ “คลินิกยุติธรรม” ตั้งอยู่ ณ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ที่มา : กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ