ถ้าไม่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ลูกที่เกิดมา “ถือว่า” เป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมายของมารดา โดยไม่จำเป็นต้องรับรองบุตรเพราะลูกเกิดมาจากฝ่ายแม่แน่นอนอยู่แล้ว
ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสแล้วพ่อจะมีสิทธิในตัวลูกได้อย่างไร ในเบื้องต้นกฎหมาย “ให้สันนิษฐานว่า” ลูกเป็นบุตรของฝ่ายชาย เมื่อ….
1.สามีและภรรยา จดทะเบียนสมรสภายหลังมีลูก
คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส
- จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้ายังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องมีบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย ส่วนสาวๆ หนุ่มๆ คนไหนที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว สามารถทำการจดทะเบียนสมรสได้ด้วยตัวเอง ส่วนสาวน้อยหนุ่มน้อยคนไหนที่อายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์ แต่อยากจะสมรสสมรักจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
- ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
- ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
หมายเหตุ : กรณีผู้ร้องยังไม่บรรลุนิติภาวะ (20 ปีบริบูรณ์) บิดา มารดา หรือผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง หากไม่สามารถมาด้วยตนเองได้ให้ใช้หนังสือให้ความยินยอมเป็นหลักฐาน
สำหรับผู้หญิงที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน (หญิงหม้าย) ถ้าจะจดทะเบียนกับชายคนเดิม (สามีคนเดิม) สามารถจดได้เลย แต่ ถ้าจะจดทะเบียนสมรสกับชายคนใหม่จะต้อง เว้นระยะเวลาจากการหย่าครั้งล่าสุดอย่างน้อย 310 วัน เว้นแต่
(1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
(2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
(3) มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
(4) ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
(5) ชายหญิงที่มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ที่ศาลอนุญาตให้สมรสได้
ส่วนผู้ชายถ้าหย่าแล้วสามารถจดทะเบียนใหม่กับหญิงคนใหม่ได้เลย
เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมไปจดทะเบียนสมรส
- บัตรประชาชนตัวจริงของชายหญิง (บัตรที่ยังไม่หมดอายุ) หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- ทะเบียนบ้านตัวจริงของชายหญิง
- พยาน 2 คน อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
- ใครที่เคยหย่ามาก่อนต้องเอาหลักฐานการหย่ามาด้วย
- กรณีคู่สมรสเสียชีวิตคนก่อน ให้ใช้หลักฐานการตาย เช่น ใบมรณะบัตร
- สูจิบัตรและทะเบียนบ้านของบุตร (หากมีบุตรที่เกิดก่อนจะมาจดทะเบียนสมรส)
- แบบฟอร์ม “คร.1”
การจดทะเบียนสมรสแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ ไปจดที่อำเภอกับจดนอกอำเภอ ซึ่งในแต่ละแบบจะมีวิธีการอย่างไรบ้างนั้น มาดูกันเลย
1. จดทะเบียนที่อำเภอ
การจดทะเบียนที่อำเภอถือเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายมากๆ เพียงแค่คุณเตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบพร้อมกรอกรายละเอียดแบบใบคำร้องฯ (คร.1) ให้ครบ พร้อมพยานบุคคลอีก 2 คน ก็สามารถเดินทางไปห้องทะเบียน ในที่ว่าการอำเภอเพื่อติดต่อและยื่นเอกสารคำร้องฯ แก่นายทะเบียนได้แล้ว โดยสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส หรือหากบ้านใครไม่ได้อยู่ในเขตอำเภอ ก็สามารถไปจดได้ที่กิ่งอำเภอหรือสำนักงานเขตใกล้บ้านก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดที่อยู่ตามภูมิลำเนา
แต่หากคู่สมรสของคุณยังไม่บรรลุนิติภาวะแล้วละก็ จะต้องให้บิดา-มารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาเซ็นต์แสดงความยินยอมด้วย และถ้าหากคู่สมรสเป็นบุคคลต่างด้าว จะต้องใช้หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานกงสุลหรือสถานฑูตที่ตนสังกัด พร้อมแปลเป็นภาษาไทยและมีคำรับรองการแปล มายื่นพร้อมคำร้องฯ ต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต
เมื่อเรายื่นเอกสารหลักฐานและใบคำร้องฯ เรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหน้าจะทำการาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะใบทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรส ซึ่งในขั้นตอนี้หากคู่รักมีความประสงค์จะให้บันทึกข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินหรือเรื่องอื่นๆ ก็สามารถแจ้งนายทะเบียนให้รับทราบได้ และที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ถี่ถ้วน เพราะหากมีการพิมพ์ออกมาแล้วจะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้อีก
สุดท้ายหากไม่มีการแก้ไขอะไรแล้ว ทางนายทะเบียนก็จะพิมพ์ตัวทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรสเพื่อให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม และพยานเซ็นต์ชื่อลงในทะเบียนสมรส สำหรับในสำคัญการสมรสนายทะเบียนจะเป็นคนเซ็นต์เอง พร้อมยื่นทะเบียนสมรสให้กับคู่สมรสคนละ 1 ฉบับ เป็นอันเสร็จสมบูรณ์Advertisement
2. จดทะเบียนสมรสนอกที่ว่าการอำเภอ
หากบ่าวสาวคู่ไหนที่อยากได้ภาพบรรยากาศการจดทะเบียนสมรสสวยๆ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้นำเอกสารไปจดทะเบียนฯ ภายในงานได้ เพียงแต่จะต้องไปติดต่อที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่โรงแรมนั้นๆ ตั้งอยู่ รวมถึงจะต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อนวันงานอย่างน้อย 7 วัน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้จัดคิวไปงานของเราได้ถูก
สำหรับเอกสารที่จะต้องนำไปติดต่อ จะต้องเตรียมสำเนาบัตรประชาชนของคู่บ่าว-สาว สำเนาทะเบียนบ้านของคู่บ่าว-สาว รวมถึงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน 2 คน โดยพยานทั้ง 2 คนจะต้องเป็นผู้ที่มาร่วมงานในวันงานด้วย
ซึ่งรายละเอียดในการทำก็เหมือนกับขั้นตอนของการจดทะเบียนที่อำเภอเกือบทุกขั้นตอน ต่างกันเพียงแค่ขั้นตอนของการเซ็นต์ชื่อรับเอกสารเท่านั้น
ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขข้อตกลง
การจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จดไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ถ้าหากจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนต้องเสียค่าธรรมเนียน 200 บาท พร้อมทั้งต้องจัดยานพาหนะรับ – ส่งนายทะเบียนด้วย และการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกลจะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียม 1 บาท
นี่คือขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสทั้ง 2 แบบ สำหรับบ่าว-สาวที่ไม่เคนผ่านการจดทะเบียนสมรสมาก่อน เพราะถ้าหากเป็นหญิงหม้ายเคยผ่านการจดทะเบียนมาแล้ว จะต้องมีการตรวจสอบหลักฐานการหย่าและหากคู่สมรสตายจะต้องมีหลักฐานการตายมาแสดง รวมถึงจะต้องรอให้การสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน ถึงจะสมรสใหม่ได้ เว้นเสียแต่
- มีการคลอดบุตรไปแล้วในระหว่างที่รอ
- สมรสกับคู่สมรสเดิม
- มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
- ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสทั้งหมดที่คู่รักมือควรทราบ เพื่อที่เวลาไปจดจะได้ทำอย่างถูกต้องและไม่มีข้อผิดพลาดนะจ๊ะ
2.พ่อจดทะเบียนรับรองบุตร
บิดาจะจดทะเบียนว่าเป็นบุตร ซึ่งการจดทะเบียนรับรองบุตรปฏิบัติได้ 3 วิธี คือ
- การจดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียน
- การจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน
- การจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล
ขั้นตอนในการจดทะเบียน คือ บิดาต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขต พร้อมทั้งแนบเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือแสดงความยินยอมของบุตร และหนังสือแสดงความยินยอมของมารดาของบุตรก่อนรับจดทะเบียน นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล เช่น บิดามารดา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนบ้าน เพื่อให้ได้ความจริงเสียก่อน
กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อ ได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ดังนั้น เด็กและมารดาเด็กต้องให้ความยินยอมในการจดทะเบียนทั้งสองคน ซึ่งอาจมาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนก็ได้ ในกรณีที่เด็กและมารดาไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดา ถ้าทั้งสองคนไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วันนับแต่ได้รับแจ้ง (ถ้าเด็กและมารดาอยู่ต่างประเทศให้ขยายเวลาเป็น 180 วัน) ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม
- มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตร กรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคนใดคนหนึ่งคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กเป็นผู้เยาว์ไร้เดียงสา มารดาเด็กถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นต้น การจดทะเบียนรับรองบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้ว บิดาก็สามารถนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนต่อไป
นอกจากนี้ยังมีกรณี การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีได้เฉพาะกรณี
- เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงอย่างผิดกฎหมาย
- เมื่อมีการลักพาหญิงไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิง
- เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรของตน
- เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดหรือสูติบัตรว่าเด็กเป็นบุตร โดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
- เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินกันอย่างเปิดเผย
- เมื่อมีการร่วมประเวณีกับหญิงในระยะเวลาที่หญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิใช่บุตรของชายอื่น
- เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเด็กเป็นบุตรของชาย ซึ่งพิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันพ่อลูก เช่น การส่งเสียให้เล่าเรียน ให้การอุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้ใช้นามสกุลของชาย
3.พ่อยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นลูกและนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนรับรองบุตร
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
การขอให้ตรวจพันธุกรรมหรือ DNA เมื่ออีกฝ่ายไม่สมัครใจ ผลของคดีจะเป็นอย่างไร?
ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 บัญญัติว่า
ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใดๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้
ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสืบพยานตามปกติก็ได้
ในกรณีที่การตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่น สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบอื่นของร่างกาย หรือสิ่งที่อยู่ในร่างกายจากคู่ความหรือบุคคลใด ศาลอาจให้คู่ความหรือบุคคลใดรับการตรวจพิสูจน์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ให้ความยินยอมหรือกระทำการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมต่อการตรวจเก็บตัวอย่างส่วนประกอบของร่างกายตามวรรคสาม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553
มาตรา 160 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อคู่ความฝ่ายใดร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลมีอํานาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควร ตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดําเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สําคัญแห่งคดี ทั้งนี้ต้องกระทําเพียงเท่าที่จําเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทําได้และจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของบุคคลนั้น ทั้งนี้ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้
ในกรณีผู้เยาว์อายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ก่อนที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะเก็บตัวอย่างเลือดสารคัดหลั่ง หรือสารพันธุกรรมของผู้เยาว์เพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์นั้นด้วย
หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือกระทําการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ให้ความยินยอมให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณีโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้นให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลสั่งตามมาตรานี้ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกําหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้
ให้คู่ความฝ่ายที่ร้องขอให้ตรวจพิสูจน์เป็นผู้รับผิดชอบโดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม แต่ถ้าผู้ร้องขอไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายได้หรือเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้สั่งให้ตรวจพิสูจน์ ให้ศาลสั่งจ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด ส่วนความรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา 158 หรือมาตรา 161
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 นี้ เป็นการตรวจพยานหลักฐานโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ให้ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจร่างกายเป็นคู่ความ แต่ไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างส่วนประกอบจากร่างกายก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง แต่ถ้าบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจเป็นบุคคลอื่นมิใช่คู่ความ แล้วบุคคลนั้นไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างดังกล่าวก็ไม่มีผลต่อคดีและไม่เข้าข้อสันนิษฐานดังกล่าว
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1 ราคาค่าบริการในการตรวจ DNA จะขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง สามารถติดต่อสอบถามทางโรงพยาบาลก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประมาณ 6,000 – 8,000 บาทต่อคน
2 การตรวจที่เป็นหลักฐานในชั้นศาล ต้องตรวจที่โรงพยาบาลรัฐเท่านั้น เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลตำรวจ สถานบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น
3 การเก็บตัวอย่างโดยป้ายเยื่อบุกระพุ้งแก้มหรือเจาะเลือด
4 นัดฟังผลประมาณ 1 – 2 เดือน
5 เอกสารที่ต้องเตรียมไป ได้แก่ บัตรประชาชน Passport(สำหรับชาวต่างชาติ) ทะเบียนบ้าน สูติบัตรบุตร เป็นต้น
6 บิดา มารดา และบุตร ต้องถ่ายรูปพร้อมกันด้วย
นอกจากที่กล่าวมากฎหมายให้สันนิษฐานว่า” ลูกเป็นบุตรของฝ่ายชาย ในกรณีไหนบ้าง ไปติดตามกันเลยครับ
#กฎหมายน่ารู้#สำนักงานกิจการยุติธรรม#กระทรวงยุติธรรม#สิทธิดูแลลูก#พ่อ#แม่#รับรองบุตร#จดทะเบียน#ชื่นใจคนไทยรู้กฎหมาย#รู้กฎหมายไว้ใช้กฎหมายเป็น
ที่มา : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1536-1560 https://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%BB03/%BB03-20-9999-update.pdf