ค้นหา

Q&A : จะกู้เงิน เจ้าหนี้ให้เซ็นชื่อในเอกสารที่ไม่มีข้อความ หรือไม่ลงตัวเลขจำนวนเงิน…ไม่ลงเป็นตัวอักษรไว้ ควรเซ็นหรือไม่?

เช่น กู้เงินไป 3,000 บาท แต่ยอดเงินเพิ่มเป็น 30,000 บาท โดนเจ้าหนี้หลอกเซ็นชื่อ จนเป็นภาระเดือดร้อน

คำตอบ คือ ไม่ควรเซ็นชื่อในสัญญาเปล่าเด็ดขาด เพราะเจ้าหนี้อาจจะเติมข้อความหรือจำนวนเงินเกินกว่าที่กู้จริง

*สัญญากู้ยืมเงินยังไม่กรอกข้อความหรือจำนวนเงินที่กู้ เเต่ผู้กู้ลงชื่อไว้ในสัญญาเปล่า หากกรอกตัวเลขไม่ตรงกับที่กู้ไปจริงถือว่าเป็นเอกสารปลอม

พิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2548
จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 10,000 บาท และได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบไว้ให้แก่โจทก์ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้เงินว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

พิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2548
จำเลยเขียนวันที่ ชื่อและที่อยู่ของจำเลย กับลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้แล้วมอบไว้แก่โจทก์ เมื่อมีการกรอกข้อความอื่นๆ รวมทั้งจำนวนเงินกู้ลงในสัญญากู้ในภายหลังโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมและถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะฟ้องบังคับจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

สิ่งที่ต้องมีอยู่ในสัญญากู้ยืมเงิน
สัญญากู้ยืมเงินหรือหลักฐานการกู้ยืมจะอยู่ในรูปของหนังสือ จดหมาย หรือเอกสารใดๆ ที่เขียนขึ้นเอง หรือจะอยู่ในรูปของแบบฟอร์มทางการก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบในสัญญา ดังนี้

  • วันที่ทำสัญญากู้เงิน
  • ชื่อผู้กู้, ชื่อผู้ให้กู้
  • จำนวนเงินที่กู้
  • กำหนดการชำระคืน
  • ดอกเบี้ยต่อเดือน/ต่อปี (ถ้ามี)
  • ลายเซ็นต์ผู้กู้
  • ลายเซ็นต์ผู้ให้กู้ (มีหรือไม่มีก็ได้)

*ตัวอย่างสัญากู้ยืมเงิน

นอกจากสัญญากู้ยืมในรูปแบบของหนังสือหรือเอกสารการกู้ยืมแล้ว หากมีการกู้ยืมเงินผ่านช่องทางออนไลน์ กฎหมายยังอนุญาตให้ใช้ข้อความจากแชท บัญชีผู้ใช้ของผู้กู้ และรายละเอียดการโอนเงิน (Slip) เป็นหลักฐานทางกฎหมายแทนหนังสือสัญญากู้ยืมได้

ถ้าหากใครกลัวเสียเปรียบจากสัญญากู้ยืมเงิน เราแนะนำให้ใช้สัญญาที่มาในแบบฟอร์มสำเร็จ รับรองว่าได้มาตรฐานและไม่สามารถนำไปปลอมแปลงหรือเปลี่ยนรายละเอียดภายในสัญญาได้แน่นอน

ตรวจสอบสัญญากู้ยืมเงินให้รอบคอบก่อนลงลายมือชื่อ
เมื่อรู้ข้อกฎหมายและรายละเอียดในสัญญากู้ยืมแล้ว ก่อนเซ็นต์สัญญากู้ยืมทุกครั้งควรอ่านและตรวจสอบรายละเอียดอย่างรอบคอบ ดังนี้

  1. อ่าน ตรวจสอบ และทำความเข้าใจเนื้อหาในสัญญากู้ยืมเงิน
  2. ระวังสัญญากู้ยืมเงินที่มีการเว้นช่องว่างไว้เฉพาะจุด การเว้นวรรค หรือช่องไฟระหว่างคำ หากพบว่ามีการเว้นวรรคหรือมีการเว้นช่องว่างที่ผิดปกติ เราแนะนำว่าอย่าเพิ่งเซ็นต์ลายมือชื่อลงไป เพราะช่องว่างเหล่านี้อาจมาจากเหล่าเจ้าหนี้หัวหมอ ที่อาจนำสัญญาไปเติมแต่งข้อความลงไปหลังจากได้ลายเซ็นต์ของคุณแล้ว ซึ่งจะทำให้คุณตกเป็นจำเลยหากเกิดคดีความขึ้นนั่นเอง

การทำสัญญากู้ยืมเงินนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร ความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้เกิดเป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลได้ และที่สำคัญก่อนกู้ยืมต้องเลือกเจ้าหนี้ที่ไว้ใจได้ ไม่งั้นอาจต้องพบเจอกับการทวงหนี้แบบผิดกฎหมายได้

อ้างอิง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650-656

อ่านอินโฟกราฟิกกฎหมาย เรื่อง 5 เรื่องที่ลูกหนี้ต้องดู (ก่อนเป็นหนี้)