ค้นหา

กฎหมายความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในคดีอาญา

เอาไม่บอก = ลักทรัพย์ แล้วถ้า เอาซึ่งหน้า เขาเรียกว่าอะไร?

มารู้จักหลักการจำง่ายๆในกฎหมายความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในคดีอาญา แล้วต่อไปคุณจะดูข่าวหรืออ่านหนังสือพิมพ์ได้สนุกขึ้นนะครับ กฎหมายจะไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป

#การลักทรัพย์

การลักทรัพย์ คือ การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไป โดยต้องการจะครอบครองทรัพย์นั้นไว้ เพื่อตนเองเอาไปขายหรือให้กับบุคคลอื่นก็ตามแต่ ผู้ที่กระทำความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องถูกระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

การลักทรัพย์นั้นถ้าผู้กระทำได้กระทำในเวลากลางคืนหรือในบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด หรือในบริเวณที่มีอุบัติเหตุผู้ที่เข้าไปลักทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวจะต้องถูกระวางโทษหนักขึ้นกว่าการลักทรัพย์ในเวลา สถานที่หรือเหตุการณ์ปกติ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุการณ์ หรือช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าของทรัพย์กำลังได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถที่จะดูแลทรัพย์ของตนเองได้และการกระทำในเหตุการณ์หรือช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการกระทำที่ซ้ำเติมเจ้าของทรัพย์ที่กำลังได้รับความเดือดร้อน

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #ลักทรัพย์ #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
#การวิ่งราวทรัพย์

เป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า หมายถึง เป็นการขโมยเจ้าของรู้ตัวและทรัพย์จะต้องอยู่ใกล้ชิดตัวเจ้าทรัพย์
ผู้กระทำการวิ่งราวทรัพย์จะต้องถูกระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตามถ้าการวิ่งราวทรัพย์ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือเสียชีวิต เช่น กระชากสร้อยจากเจ้าของแล้วสร้อยบาดคอเจ้าของสร้อย ผู้ที่กระทำจะต้องถูกระวางโทษหนักขึ้นด้วย

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #วิ่งราวทรัพย์ #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
#ชิงทรัพย์

ชิงทรัพย์ คือ การลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยการใช้กำลังเข้าทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังเข้าทำร้ายในทันที ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ยินยอมให้ทรัพย์ไป หรือกระทำไปเพื่อให้เกิดความสะดวกในการนำทรัพย์นั้นไป เช่น ขณะที่นายเอกกำลังเดินเล่นอยู่ นาย โท ก็เข้ามาบอกให้สร้อยทองให้ถ้าไม่ให้จะทำร้ายหรือจะเอาปืนยิงให้ตายจนนายเอกต้องยอมถอดสร้อยของตนให้ เป็นต้น

มาตรา 339 ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญในทันใดนั้นว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์ไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์
(3) ยึดทรัพย์ไว้
(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น
(5) ให้พ้นจากการจับกุม
มีความผิดฐานชิงทรัพย์ : จำคุก 5 – 10 ปี และปรับ 100,000 – 200,000 บาท

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #ชิงทรัพย์ #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
#ปล้นทรัพย์

การปล้นทรัพย์ มีลักษณะเช่นเดียวกับการชิงทรัพย์ต่างกันเพียงว่ามีผู้ร่วมชิงทรัพย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้ที่กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์จะต้องถูกระวางโทษ : จำคุก 10 – 15 ปี และปรับ 200,000 – 300,000 บาท

หากการปล้นทรัพย์ผู้ปล้นคนใดคนหนึ่งมีอาวุธติดตัวไปด้วย หรือในการปล้นเป็นเหตุให้เจ้าทรัพย์หรือบุคคลอื่นได้รับถูกทำร้ายหรือเสียชีวิต ผู้กระทำความผิดทุกคนแม้จะไม่ได้พกอาวุธหรือร่วมทำร้ายเจ้าทรัพย์หรือบุคคลอื่น กฎหมายก็ถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ซึ่งมีผลให้จะต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าการปล้นทรัพย์โดยไม่มีอาวุธหรือไม่ได้มีการทำร้ายผู้ใด

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #ปล้นทรัพย์ #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
#การกรรโชกทรัพย์

การกรรโชกทรัพย์ หากจะยกตัวอย่างให้เห็นได้อย่างชัดเจนคงต้องยกตัวอย่าง

กรณีที่พบเห็นได้บ่อย คือ การที่รุ่นที่บังคับเอาเงินจากรุ่นน้องหรือที่เรียกกันว่า “แก็งค์ดาวไถ่”

พวกแก็งดาวไถ่มักจะบังคับขู่เข็ญให้รุ่นน้องเอาเงินหรือสิ่งของที่มีค่ามาให้ ถ้าไม่เอามาให้ก็มักจะถูกขู่หรือถูกทำร้าย ทำให้ต้องยอมตามที่แก็งค์ดาวไถ่บังคับ

ผู้ที่กระทำความผิดในเรื่องนี้นั้นกฎหมายได้กำหนดโทษให้ต้อง : จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

แต่ถ้าผู้ที่กระทำการกรรโชกขู่ว่าจะฆ่า ทำให้ได้รับอันตรายอย่างสาหัสหรือมีอาวุธมาขู่ด้วยก็จะได้รับโทษหนักขึ้น : จำคุก 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับ 10,000 – 140,000 บาท

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #กรรโชกทรัพย์ #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
#ความผิดฐานยักยอกทรัพย์

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบภายนอก
1.ครอบครอง
2.ทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3.เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

องค์ประกอบภายใน
1.เจตนาธรรมดา
2.เจตนาพิเศษ โดยทุจริต

ถ้าการกระทำนั้นครบทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายในแล้ว ผู้กระทำมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์

#ยักยอกทรัพย์

การยักยอกทรัพย์ เป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของบุคคลหนึ่ง แล้วบุคคลนั้นได้ยึดเพื่อไว้เป็นประโยชน์กับตนเอง ซึ่งทำให้เจ้าของทรัพย์ได้รับความเสียหาย เช่น นาย ก ยืมยางลบ นาย ข ไว้ใช้ แต่เห็นว่าสวยดีจึงไม่คืน ในกรณีเช่นนี้ นาย ก มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งจะต้องถูกระวางโทษไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เก็บกระเป๋าตังค์ตกได้หรือของที่มีคนมาลืมไว้ (โดยที่เจ้าของยังติดตามทรัพย์นั้นอยู่) หากนำกลับไปเพราะต้องการยึดถือไว้เองแล้วก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ได้

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #ยักยอกทรัพย์ #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
#ความผิดฐานรับของโจร

มาตรา 357 “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้น
กระทำความผิดฐานรับของโจร : จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษ : จำคุก 6 เดือน – 10 ปี และปรับ 10,000 – 200,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือ
การปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษ : จำคุก 5 – 15 ปี และปรับ 100,000 – 300,000 บาท

องค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร
1. ผู้ใด
2. ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด
3. ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์
4. เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกื้อหนุนการกระทำความผิดฐานต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้รวม 9 ฐานความผิด กล่าวคือ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ แต่จะมีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก หรือฉ้อโกง ความผิดฐานรับของโจรมีส่วนใกล้เคียงกับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน แต่ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนนั้นต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดก่อนหรืออย่างช้าในขณะกระทำความผิด แต่ถ้าเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้กระทำความผิดในภายหลังจากการกระทำความผิดนั้นสำเร็จลงแล้ว เช่น ช่วยพาทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดไปเสีย ก็ไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน แต่อาจมีความผิดฐานรับของโจรได้หากทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #รับของโจร #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
#ความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ (Blackmail)

ความผิดฐานรีดเอาทรัพย์
ม.338 เป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับและเมื่อเปิดเผยแล้วก็ไม่คำนึงว่าจะเสียหายต่ออะไร

ความผิดฐานรีดเอาทรัพย์มีองค์ประกอบความผิดเหมือนกับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ทุกประการ แตกต่างกันแต่เพียงในความผิดฐานรีดเอาทรัพย์เป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ (Disclose the secret) ไม่ได้เป็นการขู่เข็ญในเรื่องทั่วๆ ไป

Disclose the secret เปิดเผยความลับ

ซึ่งความลับ (Secret) หมายถึง ข้อเท็จจริงที่ไม่ประจักษ์แก่คนทั่วไปและเจ้าของความลับนั้นประสงค์จะปกปิดหรือให้รู้ในวงจำกัด เพราะฉะนั้นสิ่งไหนจะเป็นความลับหรือไม่ต้องพิจารณาตัวบุคคลเป็นสำคัญ เช่น การมีภริยาน้อย การเป็นหญิงขายบริการ การหลบเลี่ยงภาษี

โดยการเปิดเผยความลับนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย และผู้กระทำได้กระทำไปโดยประสงค์จะได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

มาตรา 338 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น มีความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ : จำคุก 1 – 10 ปี และปรับ 20,000 – 200,000 บาท

เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1945/2514 จำเลยได้ขู่เข็ญข่มขืนใจโจทก์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง ว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งนั้นซึ่งเป็นนิติบุคคล และเป็นบุคคลที่สาม และได้ขู่เข็ญข่มขืนใจโจทก์ ว่าจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้น จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเสียหาย จนโจทก์ยอมจะให้เงินแก่จำเลยตามที่ถูกขู่เข็ญ ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกขู่เข็ญเป็นผู้เสียหาย ตามความใน ป วิ อาญา มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องคดีในความผิดฐานกรรโชกและฐานรีดเอาทรัพย์

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #รีดเอาทรัพย์ #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
#ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 359 “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 358 ได้กระทำต่อ
(1) เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม
(2) ปศุสัตว์
(3) ยวดยานหรือสัตว์พาหนะ ที่ใช้ในการขนส่งสาธารณ หรือในการประกอบกสิกรรม หรืออุตสาหกรรม หรือ
(4) พืชหรือพืชผลของกสิกร
ผู้กระทำต้องระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 360 “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 360 ทวิ “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 361 “ความผิดตามมาตรา 358 และมาตรา 359 เป็นความผิดอันยอมความได้”

องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358
1.ผู้ใด
2.ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์
3.ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
4.เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

ส่วนของการกระทำคือ
1.ทำให้เสียหาย หมายถึง ทำให้ทรัพย์ชำรุด บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง
2.ทำลาย คือ การทำให้ทรัพย์สิ้นสภาพไปเลย
3.ทำให้เสื่อมค่า คือ การทำให้ทรัพย์ราคาลดลง
4.ทำให้ไร้ประโยชน์ คือ ทำให้ทรัพย์นั้นหมดประโยชน์ไป แม้เพียงชั่วคราวก็ตาม

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #ทำให้เสียทรัพย์ #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
#ความผิดฐานบุกรุก

มาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการ ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไป กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 363 ผู้ใดเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตน หรือของบุคคลที่สาม ยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่ง อสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 364 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไป หรือซ่อนตัวอยู่ใน เคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครอง ของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะ ห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก
ต้องระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 362 มาตรา 363 หรือ มาตรา 364 ได้กระทำ
(1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
(2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคน ขึ้นไป หรือ
(3) ในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษ : จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 366 ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตาม มาตรา 365 เป็นความผิดอันยอมความได้

#สำนักงานกิจการยุติธรรม #บุกรุก #ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

อ้างอิง : ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์