ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม พายุถล่ม ไวรัสระบาด ไฟไหม้ หรืออุบัติเหตุต่างๆ นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงแล้ว ยังมีภัยอีกรูปแบบหนึ่งที่แฝงมากับความวุ่นวาย นั่นคือการหลอกลวงออนไลน์ที่มักฉวยโอกาสในช่วงที่ผู้คนกำลังตื่นตระหนก
กลโกงที่พบบ่อยในช่วงภัยพิบัติ
- การหลอกให้โอนเงินบริจาค – มิจฉาชีพมักแอบอ้างเป็นองค์กรการกุศลหรือหน่วยงานช่วยเหลือ เพื่อรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- การหลอกว่าเป็นหน่วยงานหรือคนมีชื่อเสียง – การแอบอ้างเป็นบุคคลสำคัญหรือหน่วยงานราชการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการหลอกลวง
- การหลอกผู้ประสบภัย – หลอกว่าจะช่วยเหลือ แจกของ หรือให้ที่พักพิง แต่กลับเป็นการหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวหรือทรัพย์สิน
บทลงโทษทางกฎหมาย
การหลอกลวงในช่วงภัยพิบัติมีความผิดหนักตามกฎหมายไทย:
- ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน: จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ความผิดฐานแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น: จำคุก 6 เดือน – 7 ปี และปรับ 10,000 – 140,000 บาท
- ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1): จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วิธีป้องกันตัวเองจากการถูกหลอก
- บริจาคผ่านช่องทางที่เป็นทางการ (Official) – ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ใจว่าเป็นองค์กรที่มีตัวตนจริงและมีความน่าเชื่อถือ
- ระวังเว็บปลอม – หากมีการขอข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลทางการเงิน ให้ตรวจสอบความถูกต้องของเว็บไซต์ก่อนกรอกข้อมูล
- ระวังการแอบอ้าง – หน่วยงานราชการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจะไม่ขอข้อมูลส่วนตัวหรือเงินโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์
- อย่าแชร์ข้อมูลที่ไม่มีที่มาชัดเจน – การแชร์ข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญาและกฎหมายคอมพิวเตอร์
หากพบว่าถูกหลอกหรือสงสัยว่ามีการหลอกลวง สามารถแจ้งความได้ที่ :
- https://thaipoliceonline.com
- สายด่วน 1441 (กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี)
ในยามวิกฤต การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ แต่การระมัดระวังภัยจากมิจฉาชีพก็เป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก เพราะนอกจากจะเป็นการปกป้องตัวเองแล้ว ยังช่วยให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ประสบภัยอย่างแท้จริงอีกด้วย