#ไปศาล.. #ต้องทำอย่างไรบ้าง…มีคนถามมาครับ.. สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้กฎหมาย.. คงมีหลายคนอยากรู้…. วันนี้เลยจะมาเล่าให้ฟัง..หวังว่า คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจใคร่รู้อยู่บ้าง.. #ไปศาลเพราะถูกฟ้อง…เขาเรียกว่า เป็น.. “จำเลย” ครับ.. แบ่งออกเป็น #คดีแพ่ง กับ #คดีอาญา นะ…
1. ถ้าเราได้รับ #หมายเรียกจากศาล แจ้งว่า.. เราถูกโจทก์ฟ้อง.. หัวกระดาษหมาย จะเขียนบอกว่า คดีแพ่ง หรือคดีอาญา… เลขคดีดำที่เท่าไหร่ และศาลอะไร…
2. จำเลย #คดีแพ่งต้องหาทนายเอง ครับ… ภายในเวลา 15 วัน ต้องให้ทนายความยื่นคำให้การ… จะต่อสู้คดี หรือรับ.. ก็ว่าไปตามความจริง..
3. ถ้าหาทนายไปศาลไม่ทันในวันนัด… เราควรไปศาลเอง บอกว่า #ขอเลื่อนคดี กำลังหาทนายความ.. #อย่าเงียบ… หาย… ไม่ไปศาล… ไม่บอกศาลนะครับ… เพราะศาลจะถือว่าขาดนัด.. จะสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว… มีโอกาสแพ้คดี.. 99 %
4. #จำเลยในคดีอาญา.. ที่ถูกตำรวจจับ.. ในชั้นตำรวจ เรามี #สิทธิขอทนายฟรี และขอประกันตัวได้… * ถ้าเกิน 48 ชั่วโมง.. ก็มาขอประกันตัวชั้นฝากขังที่ศาลได้.. * ถ้าไม่ได้ประกันตัว.. จะถูกขังระหว่างสืบพยานที่เรือนจำนะครับ..เวลาไปศาล ก็จะมีรถรับส่งของเรือนจำ….#ระหว่างอยู่ศาล มีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับคดี.. อยากรู้ว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง.. คดีน่าจะตัดสินเมื่อไหร่… สอบถามผู้พิพากษาได้เลย… ด้วยอาการสุภาพ… ไม่ต้องเกรงใจ….ถ้าได้ประกันตัว.. ก็ต้องไปพบตำรวจ อัยการ หรือไปศาลตามนัด.. ถ้าไม่ไป ศาลจะออกหมายจับ และปรับนายประกัน…
5. จำเลยในคดีอาญา.. ที่ #ผู้เสียหาย เขาจ้างทนาย #ฟ้องเอง โดยไม่แจ้งความ… เราจะรู้ว่าถูกฟ้อง ก็ต่อเมื่อมีหมายเรียกของศาลว่า #ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง… .”ไต่สวนมูลฟ้อง” คือ วันนัดที่ศาลจะไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ หลังจากยื่นฟ้องแล้ว.. เพื่อดูว่า มีการกลั่นแกล้งฟ้องมั้ย.. ถ้าศาลเชื่อว่า ไม่ผิด ก็ตัดสินยกฟ้องได้เลย.. ถ้าศาลเชื่อว่า จำเลยน่าจะผิด ก็มีคำสั่งว่า คดีมีมูล ให้รับฟ้องไว้… เพื่อนัดสืบพยานต่อไป….ถ้าได้หมายเรียกให้ไป นัดไต่สวนมูลฟ้อง… แปลว่า มีคนฟ้องคดีอาญาเราแล้ว.. ให้เตรียมจ้างทนายความเลย…ถ้ามีทนายความ.. เขาก็จะไปศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทนเรา..เราจะไม่ไปก็ได้…#ถ้าไม่มีทนายความ… ก็ควรไปศาลในวันนัด.. บอกศาลว่า. ขอให้ศาลตั้งทนายความขอแรง (ฟรี) ให้ได้… ถ้าเรามีพยาน.. ก็บอกศาลไป ขอให้ศาลเรียกพยานฝ่ายเรามาไต่สวนด้วยก็ได้..
6. เมื่อไต่สวนพยานเสร็จ ปกติศาลจะเลื่อนคดีไปนัดฟังคำสั่งว่า คดีมีมูลมั้ย.. ถ้ามีก็จะสั่งให้รับฟ้องไว้.. จากนั้นค่อยนัดสืบพยานทั้งสองฝ่าย.. อีกหลายเดือนหลังจากมีคำสั่ง…
7. ถ้าศาลมีคำสั่งว่า คดีมีมูลให้รับฟ้อง.. และวันนั้นเราไปศาล.. จะต้องเตรียมหลักทรัพย์ หลักประกันไปด้วย.. เพราะถ้าไม่ประกันตัว.. ในวันนั้น เราจะไม่ได้กลับบ้าน.. เพราะศาลจะสั่งขังเราไว้ระหว่างรอสืบพยาน…
8. ถ้าเงินไม่มี ก็ติดต่อนายประกันอาชีพที่ขึ้นทะเบียนกับศาล.. หรือให้ญาติไปติดต่อกองทุนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม.. หรือซื้อประกันเสรีภาพที่ตั้งโต๊ะรับอยู่ในบริเวณศาล.. หรือขอให้ศาลติด EM แทนการวางเงินประกัน….
ถ้าคิดไม่ออก ไม่รู้จะทำอย่างไง.. ให้ปรึกษาทนายอาสาที่ประจำศาล.. หรือสอบถามนิติกรที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของศาล..ควรไปติดต่อเรื่อง.. เตรียมการก่อนนะครับ.. อย่ารอให้ศาลสั่งขัง.. เพราะถ้าถูกขังแล้ว.. จะออกมาทำเรื่องเองไม่ได้….#ไปเป็นพยานศาล… เมื่อทนายความ หรือตำรวจมาขอให้ไปเป็นพยาน.. หรือได้รับหมายเรียกจากศาลให้ไปเป็นพยาน…
1. ถ้าทนายความหรือตำรวจขอให้ไป โดยไม่มีหมายเรียกจากศาล… เรามีสิทธิจะไม่ไปก็ได้..แต่ถ้าเพื่อความยุติธรรม ในฐานะพลเมืองที่ดี.. เราควรไปครับ โดยเฉพาะไปเป็นพยานในคดีอาญา.. โดยทั่วไป.. ถ้าเป็นพยานในคดีอาญา.. ศาลจะสั่งจ่ายค่าตอบแทนให้ด้วย…
2. ถ้าได้รับหมายเรียกจากศาลให้ไปเป็นพยาน.. ให้ดูในหมายว่า ท่านนัดสืบพยานวันไหน.. ที่ศาลไหน.. แล้วไปตามนัด…
3. #แต่งกาย ให้หล่อ.. ให้สวย.. #แบบสุภาพ.. เท่าที่เราจะทำได้นะครับ.. มีสูท.. ก็ใส่สูท.. มีกระโปรง ก็สวมไป…ถ้าสวมเสื้อเชิ้ต.. อย่าพับแขน.. อย่าปล่อยชายเสื้อ.. กลัดกระดุมทุกเม็ด… ไม่มีเชิ้ต ก็ใส่เสื้อยืดก็ได้.. แต่อย่าถึงขั้นต้องถอดเสื้อโชว์กล้ามเข้าไปนะ. 555.ถ้ามีรองเท้าหุ้มส้น ก็ใส่ไป.. ถ้าไม่มี…มีแค่รองเท้าแตะก็ใส่ไป…ไม่ต้องถอดรองเท้าก่อนขึ้นศาล.. ไม่ต้องถอดรองเท้า ไว้หน้าห้องนะครับ…เพราะนอกจากดูรกตา ไม่งดงามแล้ว.. ฝ่าเท้าท่านจะเปื้อนโดยไม่จำเป็น…เท่าที่เห็นมา..ไม่มีศาลไหนออกระเบียบว่า ให้ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบัลลังก์…แต่ต้องไปตามนัดนะครับ.. ถ้าติดธุระจำเป็น ก็ต้องแจ้งศาลล่วงหน้า.. เพราะถ้าไม่ไปตามหมายเรียก..ศาลอาจออกหมายจับได้..
4. ไปถึงศาลแล้ว ก็เดินไปที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ .. เอาหมายเรียกให้เขาดู แล้วถามเขาว่า..เราต้องไปเป็นพยานที่ห้องพิจารณาคดี (บัลลังก์) ที่เท่าไหร่.. อยู่ชั้นไหน..
5. ไปถึง ก็เปิดประตูเข้าห้องไปเลย.. ตรงกลางห้องด้านในสุด มีที่กั้นสูงๆ.. ที่นั่งข้างบนนั้นเป็นของผู้พิพากษา.. มองไปทางขวา เป็นที่นั่งของฝ่ายจำเลย.. มองไปทางซ้ายเป็นที่นั่งของฝ่ายโจทก์.. .ถ้าเห็นผู้พิพากษาท่านนั่งบนบัลลังก์อยู่.. ก็ทำความเคารพตามมารยาทก่อน.. แล้ว กล้าๆหน่อย..ทำใจร่มๆ.. เดินเบาๆ..เข้าไปหาเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์.. เขาจะนั่งตรงโต๊ะที่วางคอมพิวเตอร์.. แจ้งเขาว่า เรามาเป็นพยานในคดีไหน.. หน้าบัลลังก์รู้แล้ว.. เขาจะได้เรียนท่านทราบได้ว่า พยานมาพร้อมสืบแล้ว..
6. ถ้าท่านยังไม่ลงมานั่งบัลลังก์.. แจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว ก็นั่งรอในห้องไปก่อน… ระหว่างนั่งรอศาลลงมา.. หรือระหว่างสืบพยาน.. ควรปิดโทรศัพท์มือถือ.. หรือปิดเสียง.. และไม่ควรเล่นโทรศัพท์ในบัลลังก์.. .ไม่นั่งไขว่ห้าง.. กางแขน.. ถ่างขา.. คุยเสียงดัง.. หรืออยู่ในอาการที่ไม่สุภาพ อื่นๆ…“ศาล” ไม่ใช่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์.. แต่เป็นสถานที่ดูแลเรื่องความยุติธรรมให้คนทั้งประเทศ.. จึงควรรักษาอาการ.. รักษามารยาท.. รักษากฎของศาล..เพื่อให้เกียรติตัวเราเองและสถานที่..
7. สืบพยานเสร็จ..อย่าเพิ่งรีบกลับ.. โดยทั่วไปฝ่ายที่อ้างเราเป็นพยานในคดีแพ่ง จะจ่ายค่าป่วยการให้.. ถ้าเป็นพยานในคดีอาญา.. ศาลจะสั่งจ่ายค่าตอบแทนให้..เป็นการขอบคุณที่เป็นคนดี…
8. การมาเป็นพยาน คือ การเอาความจริงมาเล่าให้ศาลฟัง..ไม่ใช่เล่าความไม่จริง.. เพื่อช่วยเหลือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง.. การไม่บอกกล่าวเล่าความจริงกับศาล.. เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศาลตัดสินผิดพลาด.. มันเป็นกรรมนะ..#ไปนั่งดูการสืบพยาน..1. ศาลทุกแห่ง.. ทั่วประเทศ.. ไม่เคยใส่กลอนประตูห้องพิจารณาคดีนะครับ… อยากให้เข้าใจว่า.. การเข้าไปดูการพิจารณาคดี.. เป็น #เสรีภาพของประชาชน ทุกคน.. ศาลหรือใครก็ตาม ไม่มีสิทธิห้ามประชาชนเข้าไปนั่งฟังการสืบพยาน.. แม้ว่าเขาจะไม่เกี่ยวข้องในคดีนั้นก็ตาม…เพราะการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย.. เป็นมาตรการตรวจสอบศาลโดยประชาชนครับ…เพราะศาล.. เป็นหน่วยงานเดียว ที่ทำงานแล้ว เปิดให้คนอื่นมานั่งดูได้…เพราะศาลเป็นหน่วยงานที่ทำงานแล้ว.. ไม่มีหน่วยงานอื่นมาตรวจสอบได้ เพราะศาลต้องมีความเป็นอิสระในการทำงาน.. ศาลอื่นๆ ทั่วโลก ก็เป็นแบบนี้นะครับ.. เป็นมาตรฐานสากล…ด้วยเหตุนี้ ศาลทุกแห่งในโลก.. จึงต้องสร้างระบบตรวจสอบภายในองค์กรตนเอง.. มีระบบองค์คณะ.. มีระบบศาลอุทธรณ์เพื่อทบทวนผลการตัดสิน..และที่สำคัญคือ.. มีระบบการทำงานที่โปร่งใส.. สังคมตรวจสอบได้..นั่นคือ…การพิมพ์เผยแพร่.. #คำพิพากษา.. คำตัดสินของศาล จึงสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยประชาชนในมุมมองเชิงวิชาการได้.. แต่การด่าว่าศาลว่า ไม่เป็นธรรมโดยไม่มีเหตุผล อาจเป็นความผิดได้..และเพราะความเป็นอิสระของศาลนี้เอง ทำให้ต้องมีระบบโปร่งใส..
โดยกำหนดให้ การพิจารณาคดีสืบพยาน.. ต้องทำต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่าย.. และต่อหน้าประชาชน…ประชาชน ที่สนใจคดีใด จึงมีสิทธิจะเข้าฟังคดีนั้นได้… เว้นแต่ เป็นคดีที่อาจกระทบต่อชื่อเสียงหรือมีเหตุที่ไม่ควรเปิดเผย.. ศาลก็จะมีคำสั่งให้พิจารณาลับ.. ไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟัง.. เช่น คดีความลับทางการค้า.. คดีความมั่นคง.. คดีข่มขืน หรือคดีฟ้องหย่า ในบางคดี..2. มารยาทในการเข้าไปดูการสืบพยาน.. ก็เหมือนไปเป็นพยานศาลครับ.. คือ แต่งกายสุภาพ.. ทำตัวสุภาพ.. ไม่ทำผิดระเบียบศาล… เพื่อให้เกียรติตนเองและสถานที่..3. ไปถึงศาลแล้ว.. ที่ชั้นล่าง จะมีกระดานคดีประจำวัน ปิดประกาศแจ้งว่า.. วันนี้ มีคดีอะไร .. เวลาไหน.. ใครเป็นคู่ความ .. ศาลนัดมาทำอะไร.. ที่บัลลังก์ไหน.. เขาเรียกว่า “#ใบลอย“.. ครับ.. ไปดูสิว่า วันนี้มีคดีไหนน่าสนใจ…
4. จากนั้นก็เข้าไปในบัลลังก์นั้นเลย.. ถ้าศาลยังไม่ลงมานั่ง.. ก็เดินไปกระซิบเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์หน่อยว่า.. เราเข้ามานั่งฟังเฉยๆนะ.. อยากดูการพิจารณาคดี.. ไม่ได้เป็นคู่ความหรือพยานในคดี.. .ถ้าศาลนั่งบัลบังก์แล้ว.. ก็โค้ง แล้วหาที่นั่งเลย.. อยากจะจดบันทึกไว้ ก็ทำได้.. แต่ #ห้ามบันทึกเสียง.. #ห้ามถ่ายรูป.. เจอศาลใจดี.. ท่านรู้ว่า เราอยากศึกษาหาความรู้.. ส่วนใหญ่ท่านจะดีใจครับ.. บางท่าน อาจจะเล่าที่มาที่ไปของคดีให้เราฟัง.. หรือช่วยตอบคำถามที่เราอยากรู้ด้วย…นานๆ ไปศาล ฟังสืบพยานทั้งที.. ผมว่า สนุกนะ ได้ความรู้มากมาย.. แต่ถ้าคดีไม่สนุก… น่าเบื่อ.. ง่วงนอน.. ก็อย่าอด.. อย่าทน.. ให้ค่อยๆลุกเดินออกมานะครับ.. เพราะการนั่งหลับ.. สัปหงกในห้องนั้น.. แม้จะไม่ถือว่า เป็นการละเมิดอำนาจศาล.. แต่ก็เป็นการหยามน้ำใจ.. ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี เป็นอย่างยิ่งนะ.. 555
ที่มา : ขอขอบคุณ ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์ ที่ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และอนุญาตให้สำนักงานกิจการยุติธรรมได้เผยแพร่ให้ประชาชนได้ความรู้ต่อไปครับ#บทความ#กฎหมาย#กฎหมายน่ารู้#ข่าววันนี้#ข่าวดัง #สื่อ #สำนักงานกิจการยุติธรรม #ชื่นใจคนไทยรู้กฎหมาย #รู้กฎหมายไว้ใช้กฎหมายเป็น