ค้นหา

อย่าเอาเปรียบผู้บริโภคจากการโฆษณา

ปัจจุบัน สังคมมีการเสนอขายสินค้าและบริการด้วยวิธีทางการตลาดที่หลาย เช่น การใช้คนดังที่มีชื่อเสียงมานำเสนอสินค้า โดยอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นาๆ ว่าใช้แล้วจะดีอย่างไร เมื่อผู้บริโภคได้เสพสื่อดังกล่าว จะเกิดความรู้สึกเชื่อถือทันที เพราะบุคคลที่นำเสนอนั้นเป็นบุคคลที่ตนชื่นชอบอยู่แล้ว แต่เมื่อซื้อไปใช้แล้วปรากฏว่าไม่ได้ผลตามที่โฆษณา ซ้ำร้ายยังทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจอีกด้วย

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายพื้นฐานฉบับแรกที่รับรองคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคที่สอดคล้องกับแนวทางของ UNGCP ซึ่งใช้บังคับมาระยะเวลา 39 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันมีวิธีการซื้อขายสินค้า    ที่พัฒนาในรูปแบบวิธีการใหม่ ๆ แล้วเกิดคำถามว่ากฎหมายนี้สามารถใช้บังคับได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน หรือไม่

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ กำหนดสิทธิของผู้บริโภคไว้ 5 ประการ ดังนี้

(1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้อง เพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม

(2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ

(3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว

(4) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

(5) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ (1)-(4) ดังกล่าว

นอกจากนี้ก็ยังมีกฎหมายเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการชนิดนั้นๆ หลายฉบับควบคุม เช่น การโฆษณาเครื่องสำอางมี พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

การโฆษณาสินค้าประเภทอาหารมี พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้กำหนดให้มี “คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา” มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งหมายถึง (1) ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือ  (2) ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมเป็นส่วนรวม ไม่ว่าข้อความนั้นจะเกี่ยวข้องกับตัวสินค้าหรือบริการโดยตรงหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้น

การโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมคืออะไร

– มุ่งเน้นไปที่ข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเป็นสำคัญมากกว่าวิธีการของการโฆษณา คือ “เน้นเนื้อหา” ยิ่งกว่า “รูปแบบ” และแม้ผู้ทำการโฆษณาหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาสินค้าหรือบริการนั้นจะเป็นการทำให้เปล่าหรือมิได้รับค่าตอบแทนก็ตาม หากเข้าลักษณะการกระทำการเพื่อให้บุคคลอื่น ๆ เห็นหรือทราบข้อความที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ   ที่โฆษณา ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ และการกระทำนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ถือว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย

– มีโทษทางอาญา “ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับ    ไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

– มีข้อน่าสังเกตว่า ระบบกฎหมายไทยมักจะเน้นในเรื่องการดำเนินการทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมายโดยหน่วยงานรัฐซึ่งมีข้อจำกัดโดยสภาพหลายประการ ในขณะที่กระบวนการฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อให้เกิดการหราบจำและ   ทำให้ผู้กระทำผิดต้องชดใช้เป็นตัวเงินจริง ๆ ให้แก่ผู้เสียหายยังคงเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากอยู่ แม้ว่าจะสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีผู้บริโภคได้แล้วก็ตาม

โดย  ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644763

http://www.law.psu.ac.th/index.php/th/acadamic-th/article-th/lawdev/83-lawdev-2018-31-05