ค้นหา

อยู่ไหน? Application ช่วยติดตามคนหาย

อยู่ไหน? Application ช่วยติดตามคนหาย โดย ร้อยตำรวจเอกหญิงรัชดาภรณ์ มรม่วง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการติดตามคนหายการพิสูจน์ศพนิรนาม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ปัญหาคนหายและศพนิรนาม ในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยเรื่อยมา ที่ผ่านมา…ประชาชนที่บุคคลในครอบครัวสูญหาย จะต้องเดินทางไปแจ้งความ ณ ท้องที่เกิดเหตุ หรือเดินทางไปตามหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตามหาคนหาย

เนื่องจากประเทศไทย ยังขาดศูนย์กลางข้อมูลคนหายและศพนิรนาม ข้อมูลกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ สร้างความลําบากให้กับประชาชน และทําให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมล่าช้า ไม่ทันท่วงที ในปัจจุบันจำนวนคนหายและศพนิรนามมีจํานวนเพิ่มขึ้นทุกปีอีกทั้งการติดตามคนหายกลายเป็นภาระ ค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นกับญาติในการตามหาคนหาย เพราะมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นเหตุให้สถิติคนหายที่ยังไม่พบตัวบุคคล มีอยู่อีกเป็นจํานวนมาก

จากสถิติย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2563 พบว่า คนหายมีจําานวน 3,170 ราย (ข้อมูลจากสําานักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์) และศพนิรนามมีจำนวน 5,360 ศพ (ข้อมูล จากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

จากปัญหาต่าง ๆ รัฐบาล จึงได้ออกระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานติดตามคนหาย และการพิสูจน์ศพนิรนาม พ.ศ. 2558 เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม หรือ ค.พ.ศ. โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการปฏิบัติงาน มีศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล และมีระบบการติดตามคนหาย พิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนามของประเทศไทย

กลุ่มคนนิรนาม : บุคคลที่ไม่ทราบชื่อตัว นามสกุล และไม่มีบัตรประชาชน หรือ หลักฐานแสดงตัวตน ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่มีความบกพร่องหรือพิการทางสมอง ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท หรือเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบทางสมอง ผู้เร่ร่อน ขอทาน รวมท้ังผู้สูงวัย จนทําให้ไม่สามารถระบุตัวตนญาติ หรือ สถานที่อยู่อาศัยได้

กลุ่มบุคคลนิรนามเหล่านี้ยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ บ้างก็อยู่ในการปกครองของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ บางส่วนก็เป็นคนป่วยที่ไร้ญาติ ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ประกอบกับการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐยังไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ข้อมูลยังกระจัดกระจาย ขาดศูนย์กลาง ในการรวบรวมข้อมูล

จากสถิติปี พ.ศ. 2562 พบว่า มีคนนิรนามสูงถึง 1,438 ราย จากปัญหาคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ดังกล่าว สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะเลขานุการ ค.พ.ศ. จึงได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลคนหายคนนิรนามและศพนิรนาม เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลคนหายคนนิรนาม และศพนิรนามของประเทศ ให้ทุกหน่วยงานสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกัน ในการติดตามคนหาย พิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนาม ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลในระบบ ทั้งสิ้นกว่า 6,000 ราย

จากระบบฐานข้อมูลได้พัฒนาไปสู่การจัดทำ Mobile Application “อยู่ไหน” เพื่อให้ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่าง สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ Application “อยู่ไหน” ประชาชนสามารถดาวน์โหลดฟรีได้แล้วที่ Google Play และ App Store ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งคนหาย และค้นหาคนหายได้ด้วยตนเองจากข้อมูลในระบบ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบแจ้งเตือน (Alert) ในพื้นที่ รัศมีการค้นหาได้ถึง 50 กม. และสามารถแจ้งเบาะแสผ่านระบบได้ “จำนวนเครือข่ายยิ่งมากยิ่งสร้างโอกาสติดตามคนหายมากขึ้น”

Application อยู่ไหน สามารถดาวโหลดฟรี ได้ที่ Google Play และ App Store

IOS: App Store
Download Application
Android: Google Play
Download Application

ขอบคุณบทความจาก : JUSTICE MAGAZINE (วารสารยุติธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 ประจำปี 2564)