ค้นหา

เหตุสุดวิสัย : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?

เหตุสุดวิสัย ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “ภาวะที่พ้นความสามารถที่ใครจะป้องกันได้” ในทางกฎหมายนั้นก็ได้ให้ความหมายที่ใกล้เคียงกัน ดังที่ได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8

“เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า “เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”

เหตุสุดวิสัย ได้แก่เหตุการณ์แบบใดบ้าง???
– เหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาติ
– เหตุจากการกระทําของบุคคลอื่นโดยกะทันหัน
– เหตุการณอื่นๆ เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ซึ่งตนเองไม่อาจป้องกันหรือโดยไม่อาจบังคับมิให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นได้ หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงมิให้พบเจอเหตุดังกล่าวได้
ข้อสังเกตุ ** แต่หากเป็นเหตุธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจํา ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้**

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 383/253

จำเลยขับรถยนต์ไปด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผู้ตายได้วิ่งไล่ตี ซ. ข้ามถนนตัดหน้าช่องทางเดินรถที่จำเลยขับไปแล้ว แต่ได้มีรถยนต์อีกคันหนึ่งแล่นตามมา ผู้ตายจึงชะงักและถอยหลังกลับเข้ามาในช่องทางเดินรถของจำเลยโดยกระทันหันและในระยะกระชั้นชิด ทำให้จำเลยไม่สามารถหยุดรถหรือหลบไปทางอื่นได้ทันท่วงที และในภาวะเช่นนั้น จำเลยไม่อาจคาดคิดได้ว่าจะมีคนวิ่งข้ามถนนตัดหน้าช่องทางเดินรถที่จำเลยขับไปแล้วกลับไปชะงัก และถอยหลังเข้ามาขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยกลับไปอีก การที่จำเลยขับรถยนต์ชนผู้ตาย จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจป้องกันได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 983/2546

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาพลบค่ำ รถที่แล่นบนถนนทุกคันต่างเปิดไฟแล้ว แสดงว่าถนนมืดรถจักรยานยนต์ที่ ส.ขับนั้นไม่มีไฟหน้า ไฟเลี้ยวก็ใช้การไม่ได้ ทั้งก่อนขับรถมีการดื่มสุรามาบ้างแล้ว จุดที่รถจักรยานยนต์เลี้ยวกลับก็เป็นทางลงเนิน อยู่ในช่องทางเดินรถของจำเลย เชื่อได้ว่า เมื่อจำเลยขับรถยนต์กระบะลงเนินแล้วจำเลยเห็นรถจักรยานยนต์เลี้ยวกลับในช่องทางเดินรถ ของตนในระยะกระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถบังคับรถให้หยุดได้ทันท่วงที การที่รถยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้ ส. และโจทก์ร่วม ที่นั่งซ้อนท้ายมานั้นได้รับอันตรายสาหัส จึงมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย

อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์