ค้นหา

ทำความผิดด้วยความจำเป็น : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร ?

ผู้ใด #กระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 (1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

การกระทำโดยจำเป็นแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
กรณีตามมาตรา 67 (1) คือ จำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับ มีหลัก ดังนี้
(1) อยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ
(2) ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
(3) ผู้กระทำจะต้องมิได้ก่อเหตุการณ์นั้นขึ้นโดยความผิดของตน
(4) กระทำไปไม่เกินขอบเขต ได้แก่ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น

กรณีตามมาตรา 67 (2) คือ จำเป็นเพื่อให้พ้นจากภยันตราย มีหลัก ดังนี้
(1) มีภยันตราย
(2) ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง
(3) เป็นภยันตรายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงโดยวิธีอื่นใดได้
(4) ภยันตรายนั้นผู้กระทำโดยจำเป็นมิได้ก่อให้เกิดขึ้น
(5) กระทำไปเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นภยันตราย
(6) กระทำไปไม่เกินขอบเขต ได้แก่ ไม่เกินสมควรแกเหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น

ทั้งสองกรณี ถ้าการกระทำนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้กระทำยังมีความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ตัวอย่างนายพลถูกคนร้ายกับพวกซึ่งมีอาวุธครบมือ ขู่บังคับให้เอาเรือรับคนร้ายข้ามฟากไปทำการปล้นทรัพย์ ถือว่านายพลกระทำด้วยความจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

ตัวอย่าง นายพลถูกคนร้ายกับพวกซึ่งมีอาวุธครบมือ ขู่บังคับให้เอาเรือรับคนร้ายข้ามฟากไปทำการปล้นทรัพย์ ถือว่านายพลกระทำด้วยความจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2489 จำเลยได้ถูกกระทำร้ายในขณะที่กำลังกินอาหารโดยจำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น จำเลยวิ่งหนีจากเรือนหลังตะวันออกไปทางเรือนหลังที่ผู้อยู่ ผู้ตายได้ทำการขัดขวางจำเลยในขณะที่มีคน 5-6 คนถือไม้วิ่งไล่ทำร้าย จำเลยอยู่อย่างกระชั้นชิดติดๆ กันไป นับได้ว่าจำเลยกำลังตกอยู่ในภยันตรายอันร้ายแรงทั้งเป็นเวลากระทันหันอันจะหลีกเลี่ยงไปทางอื่นให้ทันท่วงทีไม่ได้ จึงเป็นความจำเป็นของจำเลยที่จะต้องผ่านไปทางที่ผู้ตายขัดขวาง การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตาย 1 ที เพื่อหลบหนีภัยตามเหตุที่ปรากฏ จึงยังไม่พอสันนิษฐานว่า จำเลยจงใจเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่เห็นว่าการกระทำของจำเลย”เกินสมควรแก่เหตุไปมาก” กล่าวคือเพียงแต่ผู้ตายขัดขวางมิให้ผ่านไป ถ้าจำเลยใช้กำลังหักโหมขืนเข้าไปก็ยังทำได้ มิบังควรต้องใช้อาวุธมีดแทงจนเกิดเป็นคดีฆาตกรรม

อ้างอิง : ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 67