ค้นหา

คำนี้ในกฎหมาย : แจ้งความเท็จ

#แจ้งความเท็จ : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?


การแจ้งความเท็จนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ได้นิยามความหมายเป็นบททั่วไปไว้ว่า
.
“ผู้ใด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงาน ซึ่ง อาจทำให้ ผู้อื่น หรือ ประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”
.
โดยมีมาตรา 172,173,174 เป็นบทเฉพาะ คือ
.
มาตรา 172 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับ ‘ความผิดอาญา’ แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
.
มาตรา 173 “ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท”
.
มาตรา 174 “ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท”
.
.
***ข้อสังเกตุ***
1. ผู้แจ้งความเท็จนั้นอาจเป็น บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ก็ได้

2. การแจ้งความเท็จอาจทำโดย
– การบอกกับเจ้าพนักงาน
– การตอบคำถามเจ้าพนักงาน เช่น ให้การเท็จในฐานะเป็นพยาน
– การแจ้งโดยวิธีแสดงหลักฐาน

3. ข้อความที่แจ้งต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบัน หากเป็นเรื่อง ‘อนาคต’ ไม่เป็นความเท็จ

4. การแจ้งความเท็จนั้นต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง มิใช่การแสดงความคิดเห็น หรือการคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคต

5. การแจ้งความเท็จนั้น ผู้แจ้งต้องกระทำโดยเจตนา กล่าวคือ ต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงตามที่แจ้งเพราะหากแจ้งตามที่เข้าใจเช่นนี้ถือว่าผู้แจ้งไม่มีเจตนา

#กฎหมายน่ารู้ #ศัพท์กฎหมายวันละคำ #ชื่นใจคนไทยรู้กฎหมาย