ค้นหา

หย่า…เลือกเอง โปรดอย่ามองฉันผิด ขอใช้สิทธิรักษาหัวใจ

กฎหมายน่ารู้ 62 : หย่า…เลือกเอง โปรดอย่ามองฉันผิด ขอใช้สิทธิรักษาหัวใจ

ปัญหาสามีภรรยาทะเลาะกันอาจฟังดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่หากจัดการได้ ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่จะมั่นคง แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ดังนั้น วิธีที่จะประคองชีวิตคู่ของคุณไม่ให้จบลงด้วยการหย่าร้างหรือแยกทาง ควรเริ่มจากคุณทั้งคู่เองก่อน คุณควรตกลงกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เคลียร์ปัญหาที่ขัดแย้งกันจากสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น

แน่นอนว่าหากความขัดแย้งอาจจะต้องจบด้วยการหย่าร้างแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหรือด้วยเหตุอื่นๆ ดังนั้น ถ้าหากตกลงด้วยการพูดคุยไม่ได้ ก็ลองมาดูทางออกเรื่องการหย่าในทางกฎหมายกันบ้าง โดยคู่สมรสฟ้องหย่าได้ที่ ศาลเยาวชนและครอบครัวตามภูมิลำเนาที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือที่เกิดเหตุแห่งการหย่าการหย่าตามกฎหมาย ทำได้ 2 แบบ

  1. การหย่าโดยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย เป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อและมีพยาน โดยนำหนังสือหย่าไปจดทะเบียนหย่า ที่สำนักทะเบียน สำนักงานเขต/อำเภอ พร้อมพยาน เพราะกฎหมายกำหนดว่าเมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย การหย่า โดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่ากันแล้ว (ปพพ. มาตรา 1515)
  2. การฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้หย่า ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ เราก็ต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมให้เข้ามาช่วยเหลือ โดยสามารถติดต่อทนายความหรือปรึกษากฎหมาย ฟรี!! สายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77 เพื่อขอคำแนะนำ

สาเหตุที่นำมาฟ้องหย่าได้!

1.อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นแบบภริยาหรือสามี 

2.มีชู้หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นประจำ 

3.ประพฤติชั่ว เป็นความผิดอาญา หรือเป็นเหตุอื่นที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง

  • อับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
  • ถูกดูถูก เกลียดชัง 
  • เสียหายหรือเดือนร้อนเกินสมควร 

4.ทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างร้ายแรง 

5.จงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี 

6.ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และถูกจำคุกเกิน 1 ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้มีส่วนทำความผิด หรือยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ และเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินสมควร 

7.สมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเกิน 3 ปี

8.ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เกิน 3 ปี ไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร 

9.ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง และทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง เดือดร้อนเกินสมควร 

10.วิกลจริตเกิน 3 ปี และยากจะหายได้ ทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ 

11.ผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันแบบสามีหรือภริยา 

12.เป็นโรคติดต่อร้ายแรง และโรคเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ 

13.มีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยาไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล

(สิทธิฟ้องหย่าระงับเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด “แสดงเจตนาให้อภัย”)

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังหย่า

สิทธิดูแลลูก ค่าเสียหายที่ได้รับ แบ่งทรัพย์สินและใช้หนี้

1. ศาลจะให้เจรจาตกลงกัน

2. ศาลชี้ขาดว่าใครมีอำนาจปกครอง
(
ถ้าตกลงไม่ได้)

วิธีการ

(1) ศาลสอบถามข้อมูล

  • เด็ก (ถ้าพูดได้)
  • พ่อแม่ให้การกับนักจิตวิทยา        
  • นักสังคมสงเคราะห์
  • พยานคนกลางยืนยันว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกลักษณะไหน เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย คนที่อยู่กับเด็กเป็นประจำ

 (2) ศาลพิจารณา  

“ยึดประโยชน์และความสุขของเด็กเป็นหลัก”

ผู้มีอำนาจปกครอง

  • พ่อ(สามี)
  • แม่(ภริยา)
  • บุคคลภายนอก

เรียกค่าทดแทน

    – หย่าตามเหตุ 1. 2. ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจาก…

       1. สามีหรือภริยาของตน

       2. ผู้อื่นที่ได้รับอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือเป็นชู้ หรือร่วมประเวณี

    – หย่าตามเหตุ 4. 5. 6. 7. 8. 9. มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจาก…สามีหรือภริยาที่ทำผิดหรือเป็นเหตุให้ฟ้องหย่า

เรียกค่าเลี้ยงชีพ 

    – ฝ่ายที่ฟ้องหย่า ตามเหตุ 10. 12. จ่ายให้คู่สมรสที่วิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง

    – ฝ่ายที่ฟ้องหย่า ตามเหตุ 1 – 10 จ่ายให้คู่สมรสที่ยากจนลง หรือไม่มีรายได้จากทรัพย์สิน/งานที่ทำอยู่ระหว่างสมรส เพราะการหย่า (ฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพจะหมดไป)

แบ่ง “สินสมรส” ที่ได้มาระหว่างสมรสเท่าๆ กัน

แบ่ง “หนี้สิน” ที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรสเท่าๆ กัน

ที่มา : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501-1535