ค้นหา

คดีถึงที่สุด : คำนี้ในกฎหมาย

นายเสก ฟ้องนายรวยในข้อหายักยอกนาฬิกาและศาลอาญาได้มีคำพิพากษาให้นายรวย ส่งมอบนาฬิกาคืนให้แก่นายเสก หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้ชำระเงินแทน ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 
.
หากนายรวย ไม่พอใจคำพิพากษาก็ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่นายรวย ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาภายในระยะเวลาจนล่วงเลยไป ถือว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
.
คำพิพากษา “ถึงที่สุด” (Final Judgment)
หมายความว่า คดีนั้นเป็นอันเสร็จสิ้นลงและไม่อาจขอให้มีการเปลี่ยนแปลงคำชี้ขาดในคำพิพากษานั้นได้อีกต่อไป โดยการขอให้ทบทวนแก้ไข มีสภาพเด็ดขาดทางกฎหมายในรูปแบบ (Formelle Rechtskraft)
.
คำพิพากษาของศาลย่อมถึงที่สุด หรือ มีสภาพเด็ดขาดทางกฎหมายในรูปแบบ ในกรณีดังต่อไปนี้
1. คำพิพากษานั้น เป็นคำพิพากษาของศาลสูงสุด หรือ คำพิพากษาของศาลฎีกา
2. ในกรณีที่คำพิพากษานั้นไม่ใช่คำพิพากษาของศาลฎีกา คำพิพากษานั้นจะถึงที่สุดได้เมื่อใด ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
.
(1) ถึงที่สุดในวันที่ไดอ่านคำพิพากษา หรือ คำสั่ง ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า คำพิพากษา หรือ คำสั่ง นั้น ถือเป็นที่สุด
– หรือ –
(2) ถึงที่สุดเมื่อำ้นกำหนดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์หรือฎีกา หรือ พ้นกำหนดระยะเวลาที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่
– หรือ –
(3) คดีที่มีการอุทธรณ์ ฎีกา หรือ คดีที่มีการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถ้าต่อมามีการจำหน่ายคดีโดยชอบตามหลักเกณฑ์ที่บัญญติไว้ในมาตรา 132 แล้ว ก็ถือว่าคดีถึงที่สุดในวันที่ศาลนั้นๆ มีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยชอบ
————————————————————————–
ข้อสังเกต

* ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 “ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้น และให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร
(1) เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้อง ถอนฟ้อง หรือไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา
(2) เมื่อโจทก์ไม่หาประกันมาให้ หรือ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายขาดนัด
(3) ถ้าความมรณะของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังให้คดีนั้นไม่มีประโยชน์ต่อไป หรือ ถ้าไม่มีผู้ใดเข้ามาแทนที่คู่ความฝ่ายที่มรณะ
(4) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีรวมกันหรือให้แยกกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องโอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่ง”
.
** ถึงแม้เรื่องของนายเสกและนายรวยที่ถูกนำมาเป็นตัวอย่างจะเป็นคดีอาญา แต่สามารถพิจารณาคดีโดยใช้หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ โดยต้องใช้ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
.
*** ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

————————————————————————–
ที่มา : ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 + ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 15