ค้นหา

จะแต่งงานต้องรู้ เลิกเจ้าชู้ด้วยนะ

การแต่งงาน หรือการสมรส เป็นการสร้างความสัมพันธ์ตามกฎหมายและสังคมระหว่างคู่สมรส โดยเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวอย่างเป็นทางการ ที่มีทั้งความรับผิดชอบและความผูกพันระหว่างคู่สมรสและครอบครัวของทั้งสองฝ่าย และมีความหมายในด้านกฎหมาย เช่น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส และสิทธิในการดูแลชีวิตคู่ (ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส)

สิทธิในการจดทะเบียนสมรส

“บุคคลทั้งสองฝ่าย” สมรสได้ ต้องมี อายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว (แต่ในกรณีมีเหตุสมควร ศาลอาจอนุญาตให้สมรสก่อนได้)

การสมรสหรือการแต่งงาน

  • บุคคลทั้งสองต้อง “ยินยอม” เป็นคู่สมรสกันและต้องแสดงการยินยอม โดย “เปิดเผย”
    ต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมไว้ (จดทะเบียนสมรส)
  • เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษที่ “จดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนไม่ได้” เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย / ภาวะรบ / สงคราม เป็นต้น
    1) ให้บุคคลทั้งสอง แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะที่อยู่ ณ ที่นั้น
    2) แล้วให้บุคคลดังกล่าว จดแจ้งการแสดงเจตนาขอสมรสของบุคคลทั้งสองไว้เป็นหลักฐาน
    3) และต่อมาให้บุคคลทั้งสองจดทะเบียนสมรสกันภายใน 90 วันนับแต่วันที่อาจจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานและพฤติการณ์พิเศษไว้ในทะเบียนสมรส

บุคคลที่สมรสไม่ได้

  • บุคคลวิกลจริต (เช่น จิตผิดปกติ, บ้า) หรือไร้ความสามารถ (ไม่สามารถจัดการตนเองได้)
  • บุคคลสองคนที่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา
  • เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา
  • บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ (สมรสซ้อนไม่ได้) 

สินสอด เป็นทรัพย์สินของฝ่ายผู้หมั้นให้แก่บิดามารดา / ผู้รับบุตรบุญธรรม / ผู้ปกครอง ของฝ่ายผู้รับหมั้น เพื่อตอบแทนที่ยอมสมรส

กรณีไม่มีการสมรส เพราะมีเหตุสำคัญเกิดกับผู้รับหมั้น หรือมีพฤติการณ์ที่ผู้รับหมั้นต้องรับผิดชอบ จนทำให้ผู้หมั้นไม่สมควรสมรสกับผู้รับหมั้น ฝ่ายผู้หมั้นเรียกสินสอดคืนได้ (ตามกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้)

สิทธิในการดูแลชีวิตคู่ (ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส)

  • คู่สมรสต้องอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส
  • คู่สมรสต้องช่วยเหลือ อุปการะ เลี้ยงดูตามความสามารถและฐานะของตน
  • กรณีที่คู่สมรสไม่สามารถอยู่กินฉันคู่สมรสโดยปกติสุข หรือการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตราย แก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือทำลายความผาสุกอย่างมาก : อาจร้องขอต่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แยกกันอยู่ในระหว่างเกิดเหตุ และกำหนดให้อีกฝ่ายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ได้
  • กรณีศาลสั่งให้คู่สมรสเป็นคนไร้ความสามารถ / เสมือนไร้ความสามารถ : ให้คู่สมรสอีกฝ่ายเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หรือเมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และมีเหตุสำคัญ ศาลอาจตั้งผู้อื่นมาทำหน้าที่แทนได้

สถานที่และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสมรส

  • สามารถจดทะเบียนสมรสได้ที่
    • สำนักงานเขต (ในกรุงเทพฯ)
    • ที่ว่าการอำเภอ (ต่างจังหวัด)
    • สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ
  • ค่าใช้จ่าย
    • ไม่มีค่าใช้จ่าย หากจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน
    • หากจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน ต้องจัดรถรับ-ส่งนายทะเบียน และมีค่าธรรมเนียม 200 บาท

เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรส

  • บัตรประชาชน (สำหรับคนไทย)
  • สัญญาก่อนสมรส (ถ้ามี)
  • พยานบุคคลอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 2 คน
  • กรณีอายุยังไม่ครบ 20 ปี ต้องมีใบยินยอมจากผู้ปกครอง
  • สำหรับชาวต่างชาติ:
    • หนังสือเดินทาง (Passport)
    • หนังสือรับรองสถานะสมรส (Certified Marriage Certificate)
    • เอกสารต้องแปลเป็นภาษาไทยและรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

การใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน หรือตัดสินใจแต่งงานกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นการมีชีวิตครอบครัว ซึ่งการที่คนสองคนต้องมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ต้องเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิสัยใจคอ เรื่องการเงิน เรื่องทรัพย์สิน หรือเรื่องอื่นๆ รอบตัวอีกมากมาย ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้คนสองคนที่มาจากต่างครอบครัว ต่างการเลี้ยงดูสามารถมีชีวิตคู่ที่มีความสุข หวานชื่นได้อย่างยืนยาวได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายที่จะเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน พูดคุยปรับความเข้าใจในยามที่มีปัญหา เพื่อสร้างสถาบันครอบครัวที่แข้มแข็ง

อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ,พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567