ค้นหา

หมั้นกันแล้ว ขอคืนของหมั้นได้หรือไม่

การหมั้น เป็นการตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย (คู่หมั้น) ว่าจะมีการแต่งงานเกิดขึ้นในอนาคต โดยการหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อ ฝ่ายผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้น ต่อมาหากภายหลังการหมั้น คู่หมั้นอาจมีเหตุบางอย่าง ที่เป็นปรปักษ์จนไม่สามารถแต่งงาน ใช้ชีวิตคู่กันในอนาคตได้ จึงตกลงบอกเลิกสัญญาหมั้นกัน (เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใด ผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายผู้รับหมั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายผู้หมั้น)

สิทธิการบอกเลิกสัญญาหมั้น มีกรณีไหนบ้าง

มาตรา 1437[128]   การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น

เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น

สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายผู้หมั้นให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายผู้รับหมั้น แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่ผู้รับหมั้นยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ผู้รับหมั้นหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายผู้รับหมั้นต้องรับผิดชอบ ทำให้ผู้หมั้นไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น ฝ่ายผู้หมั้นเรียกสินสอดคืนได้

ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึงมาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

1. หมั้นแล้ว ถ้าไม่มีการแต่งงาน โดยมีเหตุสำคัญที่เกิดกับผู้รับหมั้น หรือมีพฤติการณ์ที่ฝ่ายผู้รับหมั้นต้องรับผิดชอบ ทำให้ผู้หมั้นไม่สมควรหรือไม่อาจแต่งงานกับผู้รับหมั้นนั้นได้ = ฝ่ายผู้หมั้นเรียกสินสอดคืนได้ (มาตรา 1437 วรรค 3)

มาตรา 1442[132]   ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ผู้รับหมั้นทำให้ผู้หมั้นไม่สมควรสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น ผู้หมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้ผู้รับหมั้นคืนของหมั้นแก่ผู้หมั้น

2. มีเหตุสำคัญที่เกิดกับผู้รับหมั้น ทำให้ผู้หมั้นไม่สมควรแต่งงานกับผู้รับหมั้น = ผู้หมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้ผู้รับหมั้นคืนของหมั้นแก่ผู้หมั้น (มาตรา 1442)

มาตรา 1443[133]   ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ผู้หมั้นทำให้ผู้รับหมั้นไม่สมควรสมรสกับผู้หมั้นนั้น ผู้รับหมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ผู้หมั้น

3. มีเหตุสำคัญที่เกิดกับผู้หมั้น ทำให้ผู้รับหมั้นไม่สมควรแต่งงานกับผู้หมั้น = ผู้รับหมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ผู้หมั้น (มาตรา 1443)

มาตรา 1444  ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น

4. มีการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น = คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน เสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น (มาตรา 1444)

มาตรา 1445[134]  คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน หรือผู้ซึ่งกระทำกับคู่หมั้นของตนเพื่อสนองความใคร่ของผู้นั้นหรือคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้วตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี

5. มีผู้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน หรือผู้ที่กระทำกับคู่หมั้นของตน เพื่อสนองความใคร่ของผู้นั้นหรือคู่หมั้นของตน โดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น = เรียกค่าทดแทนจากผู้ร่วมประเวณีฯ ได้ เมื่อบอกเลิกสัญญาหมั้นแล้ว ตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี (มาตรา 1445)

ตัวอย่างการขอคืนของหมั้น

เหตุที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เกิดจากการที่ฝ่ายหญิง ไม่สนับสนุนการทำมาหาได้/ประกอบอาชีพ ประพฤติตนขี้เกียจ จึงเกิดการสมัครใจบอกเลิกสัญญาหมั้น ดังนั้น เมื่อการบอกเลิกสัญญาหมั้น เกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย และการที่ฝ่ายหญิงไม่ตื่นไปช่วยรดน้ำข้าวโพด ไม่ใช่เหตุสำคัญอันเกิดแก่ฝ่ายหญิงผู้รับหมั้น ไม่ถึงขนาดทำให้ฝ่ายหญิงไม่สมควรแต่งงานกับฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงผู้รับหมั้นจึงไม่ต้องคืนของหมั้น

ข้อควรรู้ : สิทธิเรียกคืนของหมั้นตามมาตรา 1442 มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ได้บอกเลิกสัญญาหมั้น (มาตรา 1447/2 วรรคสอง)

ตัวอย่างคำพิพากษาน่าสนใจ


การที่โจทก์ที่ 2 ตกลงหมั้นหมายกับจำเลยที่ 2 นั้น แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ประสงค์ที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับจำเลยที่ 2 และในฐานะคู่หมั้นโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายหญิงย่อมต้องคาดหวังในตัวจำเลยที่ 2 ว่า จะเป็นผู้ที่สามารถนำพาครอบครัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปสู่ความเจริญและมั่นคง

การที่โจทก์ที่ 2 พยายามปลุกจำเลยที่ 2 ให้ตื่นเพื่อให้ไปช่วยรดน้ำข้าวโพดอันเป็นงานที่อยู่ในวัยที่จำเลยที่ 2 จะช่วยเหลือได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับอิดออด ซ้ำยังหลบเข้าไปในห้อง เมื่อโจทก์ที่ 2 ตามเข้าไปก็กระโดดหนีออกทางประตูหลังบ้าน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 หาได้เอาใจใส่ช่วยเหลือคู่หมั้นของตนตามที่ควรจะเป็น จึงย่อมเป็นธรรมดาที่โจทก์ที่ 2 จะรู้สึกไม่พอใจและแสดงออกซึ่งความรู้สึกไม่พอใจดังกล่าว

ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ใช้มีดงัดกลอนประตูห้อง รวมทั้งการวิ่งไล่ตามและตบหน้าจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น หาใช่เป็นนิสัยที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 ไม่

ทั้งนี้ เพราะจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 2 รู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายยังเป็นเด็กย่อมต้องทราบนิสัยใจคอของกันและกันเป็นอย่างดี หากโจทก์ที่ 2 มีความประพฤติไม่ดีจำเลยที่ 2 คงไม่ไปขอหมั้นโจทก์ที่ 2 เป็นแน่ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยังไปบ้านโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 พยายามไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 2 สมรสกับโจทก์ที่ 2 แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ถือเอาเรื่องดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและโกรธเคืองโจทก์ที่ 2

การกระทำของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นอันทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 จึงถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น

โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องคืนของหมั้น และมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้จ่ายอันสมควรในการเตรียมการสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) และสาเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 นั้น เนื่องจากจำเลยทั้งสองอ้างว่ามีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น กำหนดวันสมรสจึงไม่ใช่ข้อสำคัญที่จะนำมาพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการหมั้นได้กำหนดวันสมรสไว้ล่วงหน้าหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีเพื่อตอบแทนการที่หญิงยินยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้”

ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 ยอมสมรสด้วยแต่การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกสินสอดจากจำเลยทั้งสองได้

โจทก์ : ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ ส่วนจำเลยประกอบอาชีพเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ชุมชนและครอบครัว
จำเลย: ซื้อแหวนเพชรมอบให้แก่โจทก์หลังจากนั้นชักชวนโจทก์ไปจดทะเบียนสมรส ทั้งยังให้บิดามารดาของจำเลยไปสู่ขอและกำหนดวันแต่งงานกัน การหมั้นระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ต่อมาจำเลยมีพฤติกรรมเชิงชู้สาวกับหญิงอื่นอันเป็นการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงต่อโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น

ไม่ผิดสัญญาหมั้น เพราะไม่มีเจตนาสมรสตามกฎหมาย ของที่มอบให้จึงไม่เป็นของหมั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437

การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ จะต้องฟังให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย มิใช่เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437

ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้น