ค้นหา

รับช่วงสิทธิ : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคหนึ่ง กล่าวว่า….”บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

หรือก็คือ… รับช่วงสิทธิ หมายถึง กรณีที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้ไปยังบุคคลอื่นหรือบุคคลภายนอกโดยผลของกฎหมาย ทำให้บุคคลนั้นเข้ามาใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง… .

ลักษณะทั่วไปของการรับช่วงสิทธิเป็นอย่างไร??
(1) รับช่วงสิทธิเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย มาตรา 229 บัญญัติว่า “การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย” การรับช่วงสิทธิต้องเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงว่าคู่กรณีประสงค์จะให้มีผลตามนั้นหรือไม่ กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดจากเจตนาของคู่สัญญา
(2) รับช่วงสิทธิมีจำกัดอยู่เฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้เท่านั้น
(3) รับช่วงสิทธิเกิดขึ้นจากการชำระหนี้ของผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึงผู้ที่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในอันที่จะเข้าไปชำระหนี้ กล่าวคือ การไม่ชำระหนี้จะมีผลทางกฎหมายกระทบกระเทือนถึงสิทธิหรือผลประโยชน์ของเขา
(4) รับช่วงสิทธิมีผลให้ผู้ชำระหนี้เข้าสวมสิทธิของผู้ชำระหนี้ เมื่อมีการชำระหนี้โดยผู้มีส่วนได้เสียแล้ว โดยผลของกฎหมายทำให้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ เหนือลูกหนี้ตกมาเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ชำระหนี้หรือผู้ชำระหนี้เข้าสวมสิทธิของเจ้าหนี้มีฐานะเหมือนเป็น เจ้าหนี้คนใหม่

เหตุที่ทำให้เกิดการรับช่วงสิทธิเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง??
(1) กรณีลูกหนี้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ ตามมาตรา 227 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆของเจ้าหนี้แล้ว ลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย
(2) กรณีที่มีการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ด้อยสิทธิ ตามมาตรา 229 (1)
(3) กรณีรับช่วงสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์จำนอง ตามมาตรา 229 (2)
(4) กรณีรับช่วงสิทธิของบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น ตามมาตรา 229 (3)
(5) ผู้เสี่ยงภัยจะเสียสิทธิในทรัพย์อันเนื่องจากเจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์ ตามมาตรา 230

ผลของการรับช่วงสิทธิมีอะไรบ้าง??
(1) ผู้รับช่วงสิทธิสามารถใช้สิทธิตามมูลหนี้ที่รับช่วงสิทธิมานั้นในนามของตนเอง
(2) ผู้รับช่วงสิทธิได้รับช่วงสิทธิมาเท่ากับที่ชำระหนี้ไป
(3) การรับช่วงสิทธิตามมาตรา 227 ใช้อายุความตามมูลหนี้เดิม แต่ถ้ารับช่วงสิทธิตามมาตรา 229
(3) ต้องใช้อายุความทั่วไป คือ 10 ปี โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้่
(4) ผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยกรณีลูกหนี้ผิดนัดตั้งแต่วันรับช่วงสิทธิ
(5) ถ้าหนี้ที่รับช่วงสิทธิมานั้นเป็นหนี้มีประกัน ผู้รับช่วงสิทธิย่อมได้ประโยชน์จากประกันนั้นโดยไม่ต้องทำสัญญาใหม่ เพียงแต่ต้องส่งมอบหลักฐานหรือทรัพย์ที่เป็นหลักประกันแก่ผู้รับช่วงสิทธิ
(6) เจ้าหนี้ที่ถูกรับช่วงสิทธิไปแล้ว หมดสิทธิที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ตนอีก
(7) กรณีรับช่วงสิทธิตามมาตรา 227 ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการเอาทรัพย์อื่นมาแทนทรัพย์ที่ถูกทำให้เสียหายหรือทำลาย ผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิเหนือทรัพย์นั้นด้วย