เราเชื่อว่าหลายคนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมา เมื่อได้ยินคำว่า ความผิดต่อส่วนตัว กับ ความผิดอาญาแผ่นดิน คดีที่ยอมความกันได้ คดีอาญาที่ยอมความไม่ได้ ย่อมเกิดความ งงงวย ในอารมณ์ และสงสัยกันว่าทำไม?
เมื่อเกิดคดีขึ้นแล้ว ไฉนจึงยอมความกันได้ เพราะอะไร? มาหาคำตอบกัน เมื่อเกิดคดีอาญาเช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น ตำรวจ จะรวบรวมพยานหลักฐานและหาตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษให้ได้ และเป้าหมายของการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ต้องหาหรือต่อจำเลย คือ การพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ และหาผิดจริงก็จะลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น และเป็นการฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำผิดมิให้ต้องกระทำผิดซ้ำอีก ดังนั้น การดำเนินคดีเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่สังคมต่อไปแต่ ในบางคดีเช่น คดีออกเช็คไม่มีเงิน ฉ้อโกง ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ หรือหมิ่นประมาท ในกฎหมายถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ กระบวนการดำเนินคดีอาญากำหนดไว้เป็นพิเศษว่า ต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายจึงจะสอบสวนได้ และหากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องหรือยอมความกับผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว คดีอาญานั้นก็เป็นอันระงับไป เจ้าพนักงานของรัฐหรือศาลไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้ ซึ่งต่างจากคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้ เช่น ฆ่าคน ทำร้ายร่างกาย วางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น แม้จะยอมความกัน หรือผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีก็ตาม ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้
ที่มา : ยอมความหรือชะลอฟ้องในคดีอาญาได้หรือไม่ ? ณรงค์ ใจหาญ สยามรัฐออนไลน์ 14 ตุลาคม 2559 09:47 น. นิติศาสตร์รอบตน และ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499