ไม่มีเงินจ้างทนายความ ไม่มีเงินขึ้นศาล กองทุนยุติธรรมช่วยได้
…กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ของฟรี รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปรียบเปรยไว้ในการปาฐกถาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย” เมื่อปี 2554 ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีฐานคิดเดียวกับการขึ้นทางด่วน คือ “ผู้ใช้บริการเป็นผู้จ่าย” ภาระต้นทุนของกระบวนการยุติธรรมจึงตกอยู่กับใช้บริการ เช่นเดียวกับผู้ใช้ทางด่วนที่ต้องจ่ายค่าผ่านทาง…
…ขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมล้วนมีราคาทั้งสิ้น นับตั้งแต่ค่าธรรมเนียมขึ้นศาลหากต้องการฟ้องคดี ค่าจ้างทนายความหากต้องการฟ้องหรือถูกฟ้องคดี ค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจลายนิ้วมือ การตรวจดีเอ็นเอ ค่าใช้จ่ายรังวัดที่ดิน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าที่พักและค่าเดินทางเมื่อมาทำคดี
และยังมีค่าเสียโอกาส เช่น จากรายได้ที่สูญเสียไปในการขาดงานเพื่อดำเนินคดีความ ภาระต้นทุนต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยซึ่งมีความสามารถในการจ่ายเพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่เท่ากัน
อย่างไรก็ตามทางออกของคนจนก็มีไม่น้อยทั้งการหยิบยืม การกู้ การเช่าหลักทรัพย์มาค้ำประกัน แต่ล้วนมีต้นทุนสูงที่สูงทั้งสิ้น ในหลายกรณีคนจนจึงเลือกที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียเลยแต่แรก เพรากลัวภาระค่าใช้จ่ายมากมายที่จะตามมา และกลับยอมให้สิทธิของตนเองถูกละเมิดไป…
…การให้ความช่วยเหลือแก่คนจน เพื่อให้มีโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคมจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือในรูปตัวเงิน ในหลายประเทศมีการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หรือที่เรียกกันว่า “Legal aid” ในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม เช่น ค่าประกันตัว ค่าทนายความ และในรูปแบบการจัดคลีนิกให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย เป็นต้น โดยพิจารณาให้ความช่วยเหลือจากรายได้และความจำเป็นของผู้ร้องขอ การให้ความช่วยเหลือในลักษณะ Legal aid มีในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ อเมริกา ฮ่องกง ออสเตรเลีย อินเดีย และอีกมากมาย…
ที่มา : บทความเว็บข่าว thaipublica ชื่อ “เศรษฐีนอนบ้าน ขอทานนอนคุก: ว่าด้วยกองทุนยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่าน” ของภัทชา ด้วงกลัด
ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมดังกล่าว กระทรวงยุติธรรม จึงมีความพยายามในการผลักดันกองทุนยุติธรรม ให้สามารถทำงานช่วยเหลือประชาชนได้อย่างจริงจัง
กองทุนยุติธรรมได้ออก ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559
เราสำนักงานกิจการยุติธรรม จึงติดตามและนำข้อมูลมาสรุปและย่อยให้เข้าใจมากขึ้นในรูปแบบของ infographic
เอกสารอ้างอิง : ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559