โดย ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์
“ใครเป็นใคร.. ในคดี..”
ผู้กระทำผิด คือ คนที่มีเจตนาทำผิดและลงมือกระทำความผิด.. ไม่ว่าจะตัดสินใจทำผิดเอง หรือเพราะมีคนใช้จ้างวาน…ก็มีโทษเท่ากัน.. ภาษากฎหมายเรียก ผู้ที่ลงมือกระทำผิดว่า .. “ตัวการ”..
ผู้ร่วมกระทำผิด คือ คนที่รู้เห็นและร่วมมือในการทำผิดด้วย.. มีโทษเท่ากันกับคนเป็นตัวการที่ลงมือทำผิดเอง..
ภาษากฎหมายเรียกว่า “ตัวการร่วม”..
เช่น. นาย ก. กับนาย ข. ร่วมมือกันชกต่อยนายค. .. เช่นนี้ นาย ก. และนาย ข. เป็นตัวการร่วมกันทำผิด ต้องรับโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย..มีโทษเท่ากัน..
ตัวการร่วมนี้ ต้องมีเจตนาทำผิดเหมือนตัวการ.. และต้องร่วมลงมือทำผิดด้วย.. เรียกว่า ทั้งร่วมใจและร่วมมือทำผิด..แต่การร่วมมือกัน อาจแบ่งหน้าที่กันทำได้.. ก็ถือว่า เป็นตัวการร่วม รับผิดเท่ากันอยู่ดี..
เช่น. นาย ก. นาย ข. และนาย ค. ร่วมมือกันจะไปชิงทรัพย์.. จึงวางแผนร่วมกัน ให้. นาย ก. เป็นคนลงมือ.. นาย ข. คอยระวังป้องกันและพานาย ก. หลบหนี .. ส่วนนาย ค. รอรับทรัพย์ที่บ้านเพื่อเอาไปขายต่อ..
แม้นาย ข. จะไม่ได้ลงมือ.. แม้นาย ก. จะไม่อยู่ด้วยในขณะเกิดเหตุ.. ทั้ง 3 คนก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมชิงทรัพย์..เรียกว่าเป็น.. “ตัวการร่วมที่แบ่งหน้าที่กันทำ” รับโทษเท่ากัน..
หรือนาย ก. รับงานฆ่า นาย ค. แล้วมาวางแผนที่บ้านร่วมกับนาย ข. ต่อมามอบหมายให้นาย ข. ไปยิง นาย ค..
นาย ก. รับผิดฐานเป็นตัวการร่วม รับโทษเท่ากันกับนาย ข…เพราะร่วมใจและร่วมมือกับนาย ข. โดยนาย ข.ทำหน้าที่ลงมือ ส่วนนาย ก. ทำหน้าที่วางแผน..หรือ นาย ก. และนาย ข. ตั้งใจจะไปข่มขืนนาง ค. ช่วยกันฉุดมาแล้ว นาย ข. จับนางค.ไว้ ให้นาย ก. ข่มขืน..
แม้ข. ยังไม่ได้ชำเรานาง ค. แต่นาย ข. ต้องรับผิดเท่ากับนาย ก. ฐานร่วมกันข่มขืน เพราะเป็นตัวการร่วมกันทำผิด..หรือ นาย ก.กับนาย ข.ตั้งใจเข้าป่าเพื่อจะไปร่วมกันล่าสัตว์ป่าสงวน ..ต่อมานาย ข. ยิงเสือดาวได้ ..
แม้ นาย ก. ไม่ได้ยิง นาย ก.ก็ต้องรับโทษเท่ากับคนยิง ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าสงวน..ในฐานะตัวการร่วม..
ผู้ใช้ คือ คนที่มีเจตนากระทำผิด และไม่ได้ลงมือทำเอง.. แต่ใช้ ยุ หรือจ้างให้คนอื่นไปทำผิดแทนตัวเอง..
คนลงมือทำผิด เป็นตัวการ..รับโทษเต็ม เพราะมีทั้งเจตนาและลงมือทำผิด..
ผู้ใช้ แม้มีเจตนา แต่ไม่ได้ลงมือกระทำผิดด้วย .. จึงไม่ใช่ตัวการ..
ผู้ใช้ แม้มีเจตนา แต่ไม่ได้ลงมือทำโดยแบ่งหน้าที่กับตัวการด้วย.. จึงไม่ผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำผิด..
ผู้ใช้มีเจตนาทำผิด แต่ให้คนอื่นลงมือแทนตน.. จึงต้องรับผิดในฐานะผู้ใช้รับโทษเท่ากับตัวการที่ไปกระทำผิด.. เช่น ผู้จ้างวานมือปืน
ผู้สนับสนุน คือ คนที่ไม่ได้มีเจตนาลงมือทำผิดด้วยตนเอง.. แต่เจตนาช่วยเหลือให้ความสะดวกในการทำผิดของตัวการ.. ให้ทำผิดได้โดยสะดวก..เช่น จัดหาอาวุธ จัดหายานพาหนะ คอยดูลาดเลา เปิดช่องทางเข้าบ้าน หรือดูต้นทาง..
กฎหมายบัญญัติว่า ผู้สนับสนุน จะต้องให้การสนับสนุนก่อน หรือในขณะที่ตัวการลงมือกระทำผิดเท่านั้น..
ดังนั้น คนที่ช่วยให้ตัวการหลบหนีหลังทำผิด หรือให้ที่พักพิง หรือปิดบังซ่อนเร้นพยานหลักฐาน. จึงไม่ผิดฐานผู้สนับสนุน เพราะให้การสนับสนุนหลังเกิดความผิดแล้ว..
ผู้สนับสนุน รับโทษเพียงบางส่วน.. ไม่ต้องรับเต็มเหมือนตัวการ ตัวการร่วม และผู้ใช้.. เพราะเขาแค่มีส่วนช่วยเหลือ แต่ไม่ได้ลงมือทำผิด หรือร่วมใจมาตั้งแต่ต้นๆ..
ที่กล่าวมานี้ เป็นหลักกฎหมายนะครับ..
ในทางปฎิบัติแล้ว.. จำเลยจะมีความผิดฐานเป็นตัวการ.. เป็นตัวการร่วม.. เป็นผู้ใช้ .. ต้องรับโทษเต็ม หรือเป็นเพียง “ผู้สนับสนุน” รับโทษบางส่วนนั้น..
ต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในคดี.. ว่า อัยโจทก์และทนายจำเลยจะนำพยานมาสืบโดยแสดงพฤติการณ์กระทำผิดของจำเลยว่า ..มีเจตนาทำผิดด้วยตัวเองในฐานะตัวการ.. หรือเจตนาร่วมกันในฐานะตัวการร่วม..หรือเจตนาแค่ให้ความสะดวกในการกระทำผิด..
“..เพราะศาลจะตัดสินจากพยานหลักฐานที่คู่ความเอามานำสืบเท่านั้น..ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร..”
เช่น แม้ความจริง เขาเป็นผู้ใช้ให้คนอื่นทำผิด..หรือเป็นตัวการร่วมเพราะร่วมมือร่วมใจทำผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ..
แต่ถ้าพยานหลักฐานไปไม่ถึง.. ไม่ชัดเจนถึงขนาดที่ศาลจะเชื่ออย่างไม่สงสัยเลยว่า เขาเป็นผู้ใช้ หรือเป็นผู้ร่วมลงมือทำผิด.. ก็จะลงโทษเขาฐานเป็นผู้ใช้ หรือตัวการร่วมไม่ได้..
แต่ถ้ามีหลักฐานพอฟังได้ว่า เป็นการส่งเสริมให้คนอื่นทำผิด..เขาก็อาจมีความผิดเพียงแค่ ..
“ผู้สนับสนุน”..
หลายคนสงสัยว่า พยานหลักฐานในคดี น่าเชื่อแค่ไหน.. อะไรทำให้ศาล เชื่อ หรือไม่เชื่อว่า จำเลยทำผิด..
ขอแนะนำให้ หาอ่านจากเหตุผลที่ศาลท่านเขียนตัดสินไว้ในคำพิพากษานะครับ..
การอ่านหรือฟังสื่อ หรือคนอื่นเล่ามา.. อาจทำให้สับสน.. เข้าใจผิดได้ง่าย…
ศึกษาด้วยตนเอง ดีที่สุดครับ..
#กฎหมายน่ารู้ #คดีอาญา #ผู้ทำผิดต้องรับโทษตามความผิด#กฎหมายอาญา
สำนักงานกิจการยุติธรรม ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก : ดร. ธีร์รัฐ บุนนาค