วารสารกระบวนการยุติธรรม : มุมมองของสังคมเกี่ยวกับปัญหาขอทานยังคงมองว่า “การขอทานเป็นเรื่องปกติ การให้เป็นเรื่องของความดีงาม” ทำให้ปัญหาขอทานยังคงถูกผลิตซ้ำและเชื่อมโยงกับค่านิยมของสังคมว่าด้วย “การให้”
ปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์จากการขอทานเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกับค่านิยมของสังคมว่าด้วย “การให้” ทำให้ปรากฏการณ์ขอทานที่เกิดขึ้นมีหลายลักษณะทั้งที่มาจากปัญหาความยากจนอันเป็นแรงผลักดันให้ต้องมาขอทาน หรือแรงดึงดูดจากการได้เงินมาโดยง่ายทำให้เกิดกลุ่มอาชีพขอทาน หรือกลุ่มขบวนการเร่ขอทาน หรือกรณีการเข้ามาเป็นขอทานของชาวต่างชาติที่หลั่งไหลมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
ในขณะที่มุมมองของสังคมเกี่ยวกับปัญหาขอทานยังคงมองว่า “การขอทานเป็นเรื่องปกติการให้เป็นเรื่องของความดีงาม” ทำให้ปัญหาขอทานยังคงถูกผลิตซ้ำซึ่งปัญหาและสร้างผลกระทบในวงกว้างเนื่องจากปัญหาขอทานมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์และกระทำความผิดทางอาญาในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
หากแต่วิธีในการแก้ไขปัญหากลับมุ่งไปที่การจัดระเบียบอันเป็นมาตรการที่มุ่งควบคุมและนำบุคคลที่มาขอทานเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ฝึกอาชีพในสถานสงเคราะห์ประกอบกับข้อจำกัดในการคัดกรองและจำแนกการเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองดูแล จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามหรือดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้ คือ แนวทางการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์จากการขอทานจำเป็นต้องเริ่มจากกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อจำแนก คัดกรองผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการคุ้มครอง การฟื้นฟู และการเตรียมความพร้อมผู้เสียหายในการให้ความร่วมมือในการปราบปราม ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการคุ้มครองพยาน รวมถึงบุคคลในครอบครัว ซึ่งต้องทำงานภายใต้หลักสหวิชาชีพ รวมถึงการสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ของสังคมเกี่ยวกับการให้ทานที่ถูกต้องที่ไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านการให้เงินขอทานเนื่องจากประเทศไทยมีระบบรัฐสวัสดิการที่ดูแลในทุกกลุ่มเป้าหมาย
อ่านบทความเต็ม>>https://www.oja.go.th/…/dlm…/2017/03/mag9_vol3_5.pdf…
#บทความ#วารสาร#กระบวนการยุติธรรม#สำนักงานกิจการยุติธรรม#วิจัย