ค้นหา

การสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคม

บทความโดย กรวรรณ คำกรเกตุ และอุนิษา เลิศโตมรสกุล

เด็กและเยาวชน เป็นช่วงวัยสำคัญที่จะเจริญเติบโตและพัฒนามาเป็นอนาคตของชาติ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมกลับ พบว่า   มีอัตรา “เด็กและเยาวชนกระทำความผิดในอัตราที่สูงขึ้น” จากข้อมูลสถิติรายงานจำนวนคดีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี พ.ศ. 2562 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า มีจำนวนเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดและถูกจับกุม จำนวน 20,003 คดี  

ฐานความผิดคดีที่สามารถจับกุมได้ร้อยละ
1. ฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย2,080 คดี 10.4
2. ฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์2,620 คดี13.1
3. ฐานความผิดเกี่ยวกับเพศ880 คดี 4.4
4. ฐานความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย
ยาเสพติด
– อาวุธ และวัตถุระเบิด

10,082 คดี
860 คดี

50.4
4.3
5. ฐานความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขเสรีภาพ ชื่อเสียงและการปกครอง500 คดี 2.5
ที่มา : สถาบันวิจัย ประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563

หากกล่าวถึง “เด็กและเยาวชนในฐานะเป็นผู้ประกอบอาชญากรรมหรือผู้กระทำผิด” การกระทำผิดอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยง ทั้งปัจจัยทางกายภาพ-ทางสังคม-ทางจิต ที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ “ปัจจัยทางจิต” ส่วนที่เหลือเป็นปัจจัยเสริม นอกจากนี้เด็กและเยาวชนยังเป็น “ช่วงวัยที่อยู่ในความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม” โดยมีลักษณะใหญ่ ๆ ประกอบด้วย

1. การเป็นเหยื่อโดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม

2. การเป็นเหยื่อโดยมีส่วนยั่วยุหรือจูงใจให้เกิดอาชญากรรม

3. การเป็นเหยื่ออาชญากรรมของตนเอง 

แนวคิดที่สามารถนำมากำหนดเป็นกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมได้ 

  • แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องทางอาชญาวิทยาในการป้องกันการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน : ทฤษฎีความผูกพันทางสังคม (Social Bonding Theory) ของ ทราวิชเฮอร์ชิ (Hirschi’s, 1993) โดยมีสมมุติฐานว่า “บุคคลที่มีพันธะทางสังคมหรือมีความผูกพันทางสังคมน้อย จะมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมอาชญากรรม” จากตัวอย่างงานศึกษาวิจัยพบว่า เด็กและเยาวชนที่มีความรู้สึกผูกพันหรือเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษา ครอบครัว กลุ่มเพื่อน และระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม จะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ไปกระทำความผิด ด้วยสภาวะที่มีความรู้สึกและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนเองอยู่ 
  • แนวคิดหรือหลักการในการปฏิบัติกับเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นแนวทางการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ : ทฤษฎีระบบ (System Theory) ประกอบด้วย 3 สำคัญ คือ ข้อมูลนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลงาน (Output) หรือผลผลิต (Product)
    ซึ่งจะนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) เพื่อให้สามารถเข้าถึงปัญหา แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยความถูกต้อง เหมาะสม รวดเร็ว และดำเนินการเป็นขั้นตอน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองดีของสังคม

การป้องกันกระทำผิดของเด็กและเยาวชนและการป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในสังคม 

กระบวนการในการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชน ควรมองผ่านรูปแบบของทฤษฎีระบบ เพื่อเป็นตัวกำหนดแนวทางการนำแนวทางไปสู่การปฏิบัติ และการเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า (Input) จะต้องคำนึงถึงปัจจัย 4 ประการที่สำคัญ ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยครอบครัว ปัจจัยสถาบันการศึกษา และปัจจัยทางด้านชุมชน/สังคม ด้วยการผสมผสานแนวคิดของความผูกพันทางสังคม (Social Bonding) ในการกำหนดแนวทางเพื่อนำไปสู่แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนที่เหมาะสมตามบริบทของชุมชน/สังคมของประเทศไทย ซึ่งการนำหลักการไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีนั้น ผู้ศึกษามองว่า “สถาบันการศึกษา/โรงเรียน” เป็นสถาบันหลักสำคัญในช่วงวัยของเด็กและเยาวชน เพราะเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ในการหล่อหลอม ขัดเกลา และให้ความรู้เพื่อให้   เด็กและเยาวชนเป็นคนดีและเป็นอนาคตที่ดีของชาติ ขับเคลื่อนแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง และต้องดำเนินความร่วมมือหรือการบูรณาการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอิสระต่าง ๆ ด้วย

วารสารคุณภาพชีวิตกับนักกฎหมาย ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2564 ISSN 1686-9443 (หน้า 1-16)