ค้นหา

5 รูปแบบกลโกง “แชร์ลูกโซ่”

สื่อเสียงความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Podcast) หมวดความรู้เรื่อง: อาชญากรรมทางเทคโนโลยี รายการ 18 มงกุฏออนไลน์ โดย นที แววจะโปะ

แชร์ลูกโซ่ที่หลายคนเคยได้ยิน หรือรู้จักกันในรูปแบบชื่ออื่นๆ เช่น  บ้านออมเงิน บ้านออมทอง บ้านปันสุข บ้านเดียวกัน บริษัทฟาร์มหมู วัว เห็ด บริษัทน้ำมัน ลงทุนทอง โดยทำทีการันตีผลตอบแทน ยิ่งลงเงินทุนมาก ยิ่งได้ผลตอบแทนมาก แถมมีผลตอบแทนให้กับผู้ที่ชักชวนผู้อื่นมาลงทุนเพิ่มขึ้นแบบชนิดที่เรียกว่าได้ค่าคอมเสมือนนายหน้าหาผู้มาลงทุนร่วม ยิ่งชักชวนมาได้มาก ตนเองยิ่งได้ส่วนแบ่งมาก ยิ่งไปกว่านั้นคือการบอกกับเหยื่อที่ตนชักชวนมาให้ไปชักชวนบุคคลอื่นมาร่วมลงทุนต่อด้วย เพื่อจะช่วยให้ตัวเองได้รับส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นตามจำนวน

แชร์ลูกโซ่ กลุ่มมิจฉาชีพหรือกลุ่มคนร้ายมักจะทำเป็นกระบวนการ โดยจัดฉากว่า ทำบริษัทที่ดูน่าเชื่อถือ มีอนาคต มีผลตอบแทนให้ผู้มาลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และเห็นผลไว เช่น ลงทุนเพียงเดือนเดียวก็ได้ผลตอบแทนกลับมาทันที  จนเหยื่อตายใจและคิดว่าลงทุนกับบริษัทนี้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงไปหาเงินมาลงทุนเพิ่ม รวมทั้งชักชวนคนรู้จักมาร่วมลงทุน เพราะหวังจะได้ผลตอบแทนจากการชักชวนที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายเมื่อถึงจุดอิ่มตัวไม่มีคนมาลงทุนเพิ่ม คนร้ายจากที่เคยจ่ายผลตอบแทน (หักมาจากเงินของเหยื่อที่ลงทุน) ก็หยุดจ่ายเงินและถ่ายโอนเงินไปสู่บัญชีนอกระบบ และหลบหนีไปต่างประเทศ หรือเจรจาต่อรองขอคืนเงินบางส่วนและขอยอมความกับกลุ่มผู้เสียหาย เมื่อเรื่องเงียบก็กลับมาทำใหม่อีก เป็นวงจรแบบนี้ไม่รู้จบ ซึ่งเราก็มักจะพบเห็นตามข่าวอยู่หลายครั้ง ที่มีกลุ่มผู้เสียหายจำนวนมากรวมตัวกันมาแจ้งความหรือร้องเรียนกับทางภาครัฐเพื่อดำเนินการกับขบวนการแชร์ลูกโซ่เหล่านั้น แต่กว่าจะสืบเสาะไปเจอต้นตอหรือจุดเริ่มต้นก็ช้าไป คนร้ายก็หลบหนีออกนอกประเทศไปเสียแล้ว บางกรณีถ้าโชคดีก็สามารถจับตัวต้นเหตุของแชร์ลูกโซ่มาดำเนินคดีได้

5 รูปแบบการชักชวน ที่กลโกงส่วนใหญ่รวมถึง “แชร์ลูกโซ่” มักใช้หลอกลวงหรือจูงใจ หากใครเจอแบบนี้ต้องระวัง! ไว้ก่อน

  1. ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น ชวนเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนหรือกำไรจากการลงทุนจำนวนมากอย่างรวดเร็วและง่ายดาย และใช้ เทคนิค กระตุ้นด้วยรูปถ่ายคู่กับเงินก้อนโต หรือรถหรู สร้างความหวังว่าทุกคนเป็นเจ้าของได้ สะกิดต่อมความโลภ
    >> เช็กก่อนเชื่อ – ไม่มีการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว และพึงตระหนักว่าการลงทุนที่อาจให้ผลตอบแทนสูง ย่อมมีความเสี่ยงสูงตามมาด้วย
  2. การันตีผลตอบแทน บอกว่าจะได้ผลตอบแทนสูงเท่านั้นเท่านี้เป็นตัวเลขแน่นอน เช่น 10% – 15% ต่อสัปดาห์ หรือ 40% ต่อเดือน
    >> เช็กก่อนเชื่อ – ไม่มีการลงทุนไหนที่การันตีผลตอบแทนที่แน่นอนได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือคริปโตก็ตาม เพราะราคาจะเคลื่อนไหวจากหลายปัจจัย
  3. เร่งรัดให้ตัดสินใจ โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะในช่วงเวลานั้น เช่น วันนี้วันเดียวเท่านั้น, เหลือเวลาแค่ 5 นาที หรือเหลือที่ไม่มากแล้ว เพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรองของเรา
    >> เช็กก่อนเชื่อ – ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่จะลงทุน ไม่ด่วนตัดสินใจลงทุนจากแรงบีบคั้น และโดยหลัก ผู้แนะนำการลงทุนต้องไม่เร่งรัดการตัดสินใจของลูกค้า เพื่อให้เวลาลูกค้าคิดให้ถี่ถ้วน
  4. อ้างว่าใคร ๆ ก็ลงทุน ถ้าไม่รีบอาจพลาดตกขบวน หรืออ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุน ถ้าไม่เข้าร่วมจะตกขบวนความร่ำรวย
    >> เช็กก่อนเชื่อ – จริง ๆ แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครมาร่วมลงทุน แต่ขึ้นอยู่กับการลงทุนหรือธุรกิจนั้นมีอยู่จริงและถูกกฎหมายหรือไม่
  5. ธุรกิจจับต้องไม่ได้ บอกว่าทำธุรกิจแต่ไม่เห็นสินค้า หรือชักชวนลงทุนในแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต อ้างธุรกิจว่าได้รับการรับรอง แต่ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้
    >> เช็กก่อนเชื่อ – ควรตรวจสอบว่าเป็นธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นธุรกิจ ณ ตลาดทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัล ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่แอปพลิเคชั่น SEC Check First หรือเว็บไซต์ ก.ล.ต.

รู้หรือไม่? กรณีหลอกลวงลงทุนที่เป็น “แชร์ลูกโซ่” และ “ธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่”
เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท

พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

Tips สร้างเกราะป้องกันภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่หลอกลงทุน

  • ศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุน มิจฉาชีพมักอาศัยความไม่เข้าใจหุ้นหรือคริปโทเคอร์เรนซี มาชักชวน จึงควรศึกษาความรู้การลงทุน เพราะการลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยง การันตีผลตอบแทนที่แน่นอนไม่ได้
  • มีสติ คิดก่อนตัดสินใจ เมื่อถูกชักชวนให้ลงทุน บีบให้ตัดสินใจ เน้นหาเครือข่ายโดยให้ผลตอบแทนสูง แต่จับต้องธุรกิจนั้นไม่ได้ ต้องระวังให้มาก หากเป็นการชักชวนลงทุน/ระดมทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลควรตรวจสอบว่าได้รับอนุญาตหรือไม่จากแอปพลิเคชัน SEC Check First
  • รู้ผลกระทบที่มากกว่าเสียเงิน หากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินไปแล้ว แต่ถ้าเราไปชักชวนคนอื่นมาลงทุนแชร์ลูกโซ่ ก็อาจมีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน 
  • ตื่นตัวและติดตามข่าวสารใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการแชร์ลูกโซ่หรือการหลอกลวงลงทุนต่าง ๆ
    อยู่เสมอ เพราะมีวิธีหลอกลวงใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพบเห็นหรือถูกชักชวนลงทุนที่น่าสงสัย

หากพบเห็นหรือถูกชักชวนลงทุนที่สงสัยว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ สามารถแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

– ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 1359 

– กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โทร. 1202 

– กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร. 1441
– หรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com​

และหากการชักชวนนั้นเป็นการชวนระดมทุนหรืออ้างผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่น หุ้น คริปโต สินทรัพย์ดิจิทัล แจ้งเบาะแสมาที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. ได้แก่
(1) โทร 1207 หรือ

(2) เฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต.

(3) SEC Live Chat
ที่เว็บไซต์ www. sec.or.th ​ ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ผลิตภัณฑ์ และบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้ที่ SEC Check First ทั้งทางแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ www.sec.or.th รวมทั้งสามารถดูรายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังได้ที่ investoralert 

อ้างอิง: พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527