ค้นหา

FAKE NEWS! (ข่าวปลอม) “คิดให้ดีก่อนโพสต์ เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์”

สื่อเสียงความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Podcast) หมวดความรู้เรื่อง: อาชญากรรมทางเทคโนโลยี รายการ 18 มงกุฏออนไลน์ โดย นที แววจะโปะ

เคยได้ยินกันมาหรือไม่ “ข่าวลือ” มักมาก่อน “ข่าวจริง”เสมอ โดยทุกวันนี้ช่องทางสื่อออนไลน์คือเครื่องมือในการสื่อสารที่รวดเร็ว และสะดวกสุด แค่กดแชร์ กดส่งต่อ ก็สามารถกระจายข้อมูลออกไปได้เป็นกว้าง แต่รู้หรือไม่ถ้าข่าวหรือข้อมูลนั้นเป็นข่าวปลอมละ การแชร์ข่าวปลอม ที่ทำให้ผู้อื่น หรือองค์กรใด ให้เกิดความเสียหาย จนสุดท้าย ผู้แชร์ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี ตกเป็นผู้ต้องหา หรือแชร์ข่าวปลอมให้เกิดความเสียหาย กลั่นแกล้งให้ถูกเกลียดชัง หรือถูกดำเนินคดี จนเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจคนที่อ่านเป็นอย่างมาก จนไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริงได้ เพราะฉะนั้นมาฟังวิธีตรวจสอบ/แยกแยะว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม ข่าวบิดเบือน ไปพร้อมกัน

มีข่าวบนโลกออนไลน์ที่ประชาชนได้อ่านจำนวนมาก มาจากสื่อทุกประเภท รวมถึงข่าวที่มีการส่งต่อ ๆ กันมาจากเพจต่างๆ ซึ่งบางครั้งข่าวที่แชร์ต่อๆ กันมานั้น อาจเป็นข่าวปลอมที่ไม่มีความจริงมายืนยัน ฉะนั้นข่าวปลอมเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจคนที่อ่านเป็นอย่างมาก เช่น ข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล คนมีชื่อเสียง จนไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริงได้ มีลักษณะการส่งต่อกันเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น เพราะคนที่ปล่อยข่าวมีการเตรียมตัวกันเป็นอย่างดี เพื่อให้คนเห็นว่ามีคนแชร์เยอะ จึงกล้าแชร์ต่อ โดยวิธีการคือ กลุ่มคนเหล่านี้ ต้องการสร้างความตื่นกลัว ความเข้าใจผิด สร้างยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือผลทางใดทางหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือความเสียหายต่อคนอื่น สังคม องค์กร โดยสร้างเรื่องปลอมและส่งต่อ ๆ กัน ในโลกออนไลน์ จนมีคนหลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง และทำการแชร์ข่าวดังกล่าว ซึ่งคนร้ายได้บรรลุเจตนาหรือวัตถุประสงค์ของการปล่อยข่าวปลอมแล้ว แต่ผู้ที่แชร์ข่าว ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาหรือคนต้องมารับผิดแทน เพราะการรู้ไม่เท่าทัน

รูปแบบกลโกง/การปล่อยข่าวปลอม ที่มิจฉาชีพใช้

1. หลอกโดยการนำชื่อเสียงของสื่อสำนักใหญ่ๆ มาแอบอ้างเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

2. หลอกโดยแอบอ้างผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยยืนยันแล้วว่าค้นพบสิ่งใหม่ๆ เช่น สารอาหารที่ช่วยเพิ่มความหนุ่มสาว/ลดน้ำหนัก

3. หลอกโดยพวกแอบส่งลิงก์เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของเกษตรกร เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยการให้กรอกข้อมูลส่วนตัวของเรา

4. หลอกโดยการสร้างข่าวปลอมผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจผิดและหลงเชื่อ

5. หลอกโดยการให้สแกน QR CODE ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เพื่อรับบัตรคูปองส่วนลด สิทธิพิเศษ รับสินค้าหรือรับบริการฟรี จากร้านผู้ประกอบการที่ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก เช่น KFC/ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ

6. หลอกว่ารัฐบาลสนับสนุนเงินลงทุนสร้างอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกร

สร้างหรือแชร์ข่าวปลอม มีความผิดตามกฎหมาย!

การนำข้อมูลปลอม ข่าวปลอม ไม่ว่าจะเป็นการปลอมทั้งหมด หรือแค่บางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จเหล่านั้น ล้วนมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้

การกระทำที่เข้าข่ายความผิดในมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

– โพสต์ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง เช่น ข่าวปลอม โฆษณาธุรกิจลูกโซ่ที่หลอกลวงเอาเงินลูกค้า และไม่มีการส่งมอบของให้จริง เป็นต้น มีความผิดตามมาตรา 14 (1)

– โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่งคงปลอดภัย มีความผิดตามมาตรา 14 (2)

– โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ก่อการร้าย มีความผิดตามมาตรา 14 (3)

– โพสต์ข้อมูลลามก ที่ประชาชนเข้าถึงได้ มีความผิดตามมาตรา 14 (4)

– เผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลที่รู้แล้วว่าผิด เช่น กด Share ข้อมูลที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีนี้ก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 14 (5)

บทลงโทษ
หากการกระทำในลักษณะดังกล่าวข้างต้นส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากการกระทำในลักษณะดังกล่าวข้างต้นส่งผลต่อบุคลใดบุคคลหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่จะเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” มาตรา 328 แทน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ในกรณีอย่างหลังนี้สามารถยอมความกันได้)

วิธีป้องกัน

– วิธีที่ 1 ทุกครั้งที่เห็นข่าวที่น่าตกใจบนโลกออนไลน์ ให้ทำการหาข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ เช่น ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ข่าวจากหน่วยงานต้นทางที่เกี่ยวข้องกับข่าว เป็นต้น

– วิธีที่ 2 ไม่ทำการแชร์ข่าวที่ โจมตีให้บุคคลหรือหน่วยงานเสียหาย ที่แชร์มาจากโลกออนไลน์ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าข่าวที่แชร์มาเป็นข่าวจริงหรือไม่

– วิธีที่ 3 อ่านข่าวนั้นให้เข้าใจก่อน ว่าต้องการสื่อสารเรื่องอะไร

– วิธีที่ 4 ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่

– วิธีที่ 5 ตรวจสอบข่าวก่อนแชร์ ว่าเป็นข่าวที่กำลังเป็นกระแส หรือข่าวที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว

– วีธีที่ 6 หาข่าวเดียวกันจากแหล่งข่าวอื่นเพื่อเปรียบเทียบความน่าเชื่อถือ

– วีธีที่ 7 ตรวจสอบข่าวปลอมจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

– วิธีที่ 8 ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าของเรื่องนั้น “เช็กให้ชัวร์ ก่อนแชร์ อย่าเชื่อ จนกว่าจะรู้ความจริง” สายด่วน 1111 ต่อ 87

อ้างอิง: ประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา326 และ 328), พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 และแก้ไขเพิ่มเติม, ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย