สื่อเสียงความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Podcast) หมวดความรู้เรื่อง: อาชญากรรมทางเทคโนโลยี รายการ 18 มงกุฏออนไลน์ โดย นที แววจะโปะ
เรื่องราวของการหลอกเพื่อให้โอนเงิน หลายคนคงเคยเจอกับตัวเองกันมาแล้วบ้างหรือพบเห็นเพื่อนหรือคนรู้จักออกมาโพสต์แจ้งเตือนภัยผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ (Facebook/line) เกี่ยวกับการทักไปขอยืมเงินกับเพื่อนใน Facebook โดยที่เจ้าตัวไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ดังกล่าว จนทำให้เพื่อนบางคนตกหลุมพลางหลงเชื่อและทำการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพเหล่านั้น จนต้องมานั่งเสียใจภายหลัง เพราะฉะนั้นมาฟังวิธีป้องกันตัวกัน
เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว มีรายงานว่า พบบัญชี Facebook ปลอม (และใช้ชื่อซ้ำ) มากถึง 200 ล้านบัญชี !! จากผู้ใช้บริการกว่า 2.1 พันล้านราย โดยตรวจเจอได้ไงนั้นไม่ทราบ แต่สำหรับคนที่เจอปัญหานี้โดยตรง คงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแน่นอน เมื่ออยู่ดี ๆ ถูกใครก็ไม่รู้มาสวมรอย ด้วยการแฮกบัญชีหรือขโมยภาพโปรไฟล์ไปแอบอ้าง จนเกิดความเสียหายชนิดกว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว…
หากเป็นบุคคลที่มีคนรู้จักเยอะ หรือเป็นคนที่มีชื่อเสียง ก็ย่อมตกเป็นเป้าให้มิจฉาชีพ เข้ามาสวมรอยไปทำเรื่องมิชอบต่าง ๆ เสมอ อาทิ หลอกขายของ โกงเงิน หรือไปแสดงพฤติกรรมผิดกับตัวจริง ทำให้คนที่รู้จักเข้าใจผิด โดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ บัญชีโดนแฮก และ รูปภาพโปรไฟล์ถูกสวมรอย ดังนี้
กรณีที่บัญชีโดนแฮก
แม้ปัจจุบัน Facebook จะเข้มงวดกับการสร้างบัญชีและเพิ่มสารพัดฟีเจอร์เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ไม่วายมีคนถูกแฮกบัญชีอยู่บ่อยครั้ง จริง ๆ ต้องบอกเลยว่าการแฮกบัญชี Facebook นั้นทำได้ยากมาก เหตุผลก็ตามที่เกริ่นเลย ทว่าอาจมีบางครั้งที่ผู้ใช้พลาดในบางจุด (หรือคนแฮกเก่งจริง) จนถูกแฮกบัญชีในที่สุด
วิธีรับมือ
- อย่าตั้งรหัสผ่านที่เดาง่าย หรือพยายามอย่าใช้รหัสผ่านเดียวกันกับที่ใช้เข้า E-mail ของเรา เผื่อเราเผลอนำรหัสนี้ไปสมัครเว็บบริการต่าง ๆ ที่อาจมีความปลอดภัยไม่มาก ก็มีโอกาสที่ข้อมูลจะหลุดแล้วถูกแฮกบัญชี Facebook ได้สูง เพราะคนแฮกอาจขยายผลมายังบัญชีเฟสของเรานั้นเอง และถ้าโดนแฮกบัญชี E-mail ด้วย ก็ซวยหลายต่อเลยครับ
- ไม่ควรเข้าบัญชีบนอุปกรณ์อื่น ๆ เพราะมีโอกาสลืม Log-Out ออก เช่น สมาร์ทโฟนเพื่อน หรือคอมฯ สาธารณะ (ร้านเกม) วันต่อมาก็ถูกใครก็ไม่รู้ เอาบัญชี Facebook ของเราไปใช้งานจนได้ ฉะนั้นพยายามหลีกเลี่ยงการ Log-In บัญชีของเราบนอุปกรณ์อื่น ๆ จะดีกว่า แต่หากจำเป็นจริง ๆ ก็อย่าลืม Log-Out ออกโดยเด็ดขาด
- ระวัง Key Logger โปรแกรมดักคีย์บอร์ดที่มาพร้อมกับโปรแกรมเถื่อน โดยหลายเว็บที่ปล่อยให้โหลดโปรแกรมเถื่อนฟรี มักจะแอบฝังมัลแวร์หรือโปรแกรมประสงค์ร้ายติดมาด้วย หนึ่งในนั้นคือ Key Logger นี้เอง โดยเมื่อมันถูกติดตั้งบนคอมฯ (แน่นอนว่าเราไม่รู้ตัว) มันจะคอยบันทึกข้อมูลการพิมพ์ของเราแล้วส่งไปยัง “แคร็กเกอร์” ที่กำลังส่องข้อมูลอยู่ตลอด วิธีป้องกันก็ง่าย ๆ คือ ไม่โหลดของเถื่อน และติดตั้งโปรแกรม Anti Virus ที่มาพร้อมฟีเจอร์ป้องกันมัลแวร์ให้เรียบร้อย
- ใช้ฟีเจอร์ “ตั้งค่าการยืนยันตัวตนสองปัจจัย” ของ Facebook โดยเข้าได้ที่ การตั้งค่า > การรักษาความปลอดภัยและการเข้าสู่ระบบ ในหน้านี้จะมีสารพัดวิธีการยืนยันตัวตนช่วยเสริมให้เจาะรหัสเข้าบัญชีได้ยากขึ้นในที่นี้ก็ขอแนะนำ “ข้อความ (SMS)” ใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวช่วย ซึ่งจะอยู่ในหัวข้อ ใช้การยืนยันตัวตนแบบสองปัจจัย นั้นเอง หลังตั้งค่าตรงนี้เสร็จแล้ว ต่อไปทุกครั้งที่เรา Log-In บัญชี มันจะขึ้นหน้าต่าง “ป้อนรหัสเข้าสู่ระบบของคุณ” ถามหารหัสที่ส่งมาทาง SMS บนสมาร์ทโฟนที่ใช้ยืนยันผ่านเบอร์โทรของเรา วิธีนี้จะช่วยให้แฮกบัญชีได้ยากขึ้นแบบเห็น ๆ เลยครับ
วิธีแก้ไข สำหรับใครที่รู้ตัวว่าถูกแฮกบัญชีเข้าให้แล้ว หรืออยากเช็คว่าจะมีโอกาสโดนไหม ให้มาดูวิธีตามนี้เลย
- เช็คประวัติการ Log-In บัญชีบนอุปกรณ์อื่นๆ ใครที่เข้า Facebook อยู่ตอนนี้ ลองไปที่หน้า การตั้งค่า > การรักษาความปลอดภัยและการเข้าสู่ระบบ ก่อนเลย ในหน้านี้ให้ดูที่ส่วน “สถานที่ที่คุณเข้าสู่ระบบ” ตรงนี้คือการเช็คว่าเราเคย Log-In บัญชีบนอุปกรณ์ที่ไหนบ้าง ให้เราดูเลยว่า มีอุปกรณ์ตัวไหนที่ไม่ใช่ของเรา ถ้ามีให้รีบกดคลิกซ้ายหรือจิ้มที่ปุ่ม 3 จุด ตรงข้างชื่ออุปกรณ์ที่ไม่คุ้นเคย จากนั้นก็เลือกปุ่ม ออกจากระบบ ทันที เท่านี้ก็หายห่วงเรื่องลืม Log-Out บัญชีออกไปบ้างแล้ว
- เปลี่ยนรหัสผ่าน เป็นวิธีที่เบสิคที่สุด เวลาเราใช้รหัสผ่านเดิมนาน ๆ อาจมีโอกาสถูกมิจฉาชีพ สุ่มหรือเดารหัสผ่านออกในวันใดวันหนึ่ง ดังนั้นควรหมั่นเข้ามาเปลี่ยนรหัสผ่านได้ถ้ามีโอกาส ไม่ควรทิ้งช่วงนาน ส่วนวิธีเปลี่ยนก็ไปที่ หน้า การตั้งค่า > การรักษาความปลอดภัยและการเข้าสู่ระบบ เหมือนข้อบน แต่ในหน้านี้ให้เราไปดูที่ตัวเลือก “การเข้าสู่ระบบ“ แทน จะมีที่เปลี่ยนรหัสผ่านในนี้เอง ถ้าให้ดีก็ควรไปดูตัวเลือก “ลงชื่อเข้าใช้ด้วยรูปโปรไฟล์ของคุณ” เพื่อส่องประวิติการเข้าสู่ระบบที่แปลกปลอมต่อด้วย (ไม่มีก็แล้วไป ถ้ามีก็คือแววโดนแฮก) หรือจะปิดฟีเจอร์เข้าระบบด้วยใบหน้าไปเพื่อความปลอดภัยก็ได้
- ตรวจสอบการเคลื่อนไหวและรายงาน หากคิดว่าบัญชีของเรา มีการโพสต์หรือส่งแชทข้อความแปลก ๆ จนไล่ลบเองไม่ไหวแล้ว หรืออยากให้มันจบทีเดียวไปเลย ตรงนี้ให้ไปที่ลิงค์ https://www.facebook.com/hacked เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของบัญชีเราแบบรวดเดียวดีกว่า หลังเจอหน่าต่าง “หากคุณคิดว่าบัญชีผู้ใช้ของคุณถูกแฮ็ก เราสามารถช่วยคุณได้” ก็ให้คลิกที่ตัวเลือก “ฉันได้เห็นโพสต์ ข้อความ หรืองานกิจกรรมบนบัญชีผู้ใช้ของฉันที่ฉันไม่ได้สร้าง” มันจะเข้าสู่กระบวนการรักษาความปลอดภัยของบัญชีทั้งหมด ไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนรหัส การเช็คว่าบัญชีถูกเข้าระบบที่ไหนเวลาไหนบ้าง และมีการเคลื่อนไหวอย่างโพสต์หรือส่งแชทตอนไหนบ้างด้วย จุดนี้เราก็ไล่ลบประวัติการเคลื่อนไหวที่คิดว่าไม่ใช่เราให้หมดเลยครับ แล้วทำการปรับรหัสเข้าบัญชีให้เจาะยากขึ้นได้ในนี้เลย
สำหรับใครที่บัญชีโดนแฮกจนเข้าระบบไม่ได้ ก็สามารถใช้ https://www.facebook.com/hacked ตัวนี้ช่วยบรรเทาได้เหมือนกัน โดยมันจะให้เราป้อน E-mail หรือหมายเลขโทรศัพท์เพื่อยืนยันตัวตน แล้วดำเนินการต่อไป
กรณีรูปภาพโปรไฟล์ถูกสวมรอย
ปัญหานี้บอกเลยว่า “หนักใจ” หากโดนแฮกบัญชียังพอตามตัวได้ไม่ยาก แต่ถ้าโดน “ขโมยรูปภาพโปรไฟล์” ไปแอบอ้างทำเรื่องมิชอบ ถ้าไม่มีใครเอะใจมาเตือนเราหรือบังเอิญไปเจอเอง คงอีกนานแน่กว่าจะรู้ตัว ส่วนมากคนที่จะโดนสวมรอยด้วยวิธีนี้ มักจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงจริง ๆ อย่างดารา หรือแอดมินเพจที่มียอด Like ยอดติดตามมหาศาล (อย่างกรณีเพจ “ไข่แมว” ที่หลังหายสาบสูญไปก็มีเพจปลอมผุดขึ้นเพียบทันที) และคนทั่วไปที่กำลังทำธุรกิจขายของออนไลน์บนบัญชี Facebook หรือเพจที่ตั้งเอง ก็มีโอกาสโดนเหมือนกัน
ในส่วนนี้คงบอกวิธีป้องกันที่ชัดเจนไม่ได้ ส่วนวิธีแก้ไขก็มีบ้างแต่ยังไม่ 100% ซึ่ง ณ ปัจจุบันทาง Facebook ก็กำลังพัฒนาระบบจำใบหน้าอัตโนมัติอยู่ ที่เรียกว่า Face Recognition โดยมันจะช่วยแจ้งเตือน เมื่อพบคนโพสต์รูปภาพที่ติดภาพใบหน้าคล้ายเรา ทาง Facebook ก็มองในแง่ดีคือ คนโพสต์อาจเป็นคนรู้จักของเราเอง เผื่อเขาลืมแท็กชื่อให้เราไปสะกิดก็เป็นได้ แต่ในแง่ร้ายคือ คนโพสต์เป็นใครก็ไม่รู้ แล้วกำลังเอารูปหน้าเราไปใช้บังหน้าอย่างเมามัน ตรงนี้มีปัญหาแน่ แต่เนื่องจากยังเป็นระบบที่กำลังพัฒนาอยู่ เราคงต้องเพิ่งตัวเองก่อนดังนี้
วิธีแก้ไข
- อย่างแรก ให้เราไปที่รูปโปรไฟล์ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน คลิกที่รูปแล้วคลิกซ้ายไปที่ “ค้นหารูปภาพจาก Google” เพื่อเอาภาพของเราไปเช็คว่า ถูกเอาไปใช้ในเว็บไหนบ้าง (เพิ่งพา AI ของอากู๋ Google แทนเฮียมาร์กไปก่อนนะ…) ซึ่งหากพบว่าไม่ถูกต้อง ก็ให้แจ้งเตือนแอดมินของเว็บนั้น ๆ หรืออาจเจอบัญชี Facebook ของคนที่กำลังแอบอ้างเราอยู่ ก็ให้กดรายงานด่วน ๆ เลย
- กดรายงานหากพบเห็นบัญชี Facebook ที่มีการใช้รูปของเราในทางมิชอบ ถ้าคิดว่าชัวร์แล้วก็คลิกที่ปุ่ม 3 จุดตรงมุมขวามือ แล้วไปที่ “รายงานปัญหา” และ “คนนี้กำลังแอบอ้างเป็นตัวฉันหรือบุคคลที่ฉันรู้จัก” เพื่อรายงานไปยัง Facebook ให้ช่วยตรวจสอบทันที
#แจ้งเตือน หลังจากรายงานไปยัง facebook หรือ Line แล้ว ให้รีบเตือนบอกกับญาติสนิท และ เพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ของคุณ บอกว่าเราถูกแอบอ้าง ทั้งนี้อาจแนบ Capture รูปการสนทนาไว้เป็นหลักฐานประกอบบอกเพื่อนๆได้ แต่อย่า cap แล้วแชร์ไปยัง Social Network สาธารณะ หรือแชร์กับคนไม่รู้จักด้วย เพราะคุณอาจมีความเสี่ยงที่จะผิด พรบ.คอมพิวเตอร์เสียเอง จากการแชร์รูปบัญชีปลอมให้คนอื่นเห็นด้วย ดังนั้นลองคิดให้ดีก่อนส่งรูปให้เพื่อน
#แจ้งตำรวจ ไม่ว่าจะกรณีของ facebook หรือ Line ให้รวบรวมหลักฐานไว้ เช่น capture จับภาพหน้าจอสนทนาของไลน์ หรือ หน้า facebook ดังกล่าวไว้ หรือหน้ารูป Proflie ที่ถูกปลอมขึ้นมา แล้วนำไปแจ้งความที่ตำรวจท้องที่ ได้เลย หรือไปแจ้งกับตำรวจ ปอท. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ รายละเอียดดูที่เว็บไซต์ tcsd.in.th ตำรวจก็จะดำเนินคดี หาตัวคนร้ายตามกระบวนการกฎหมาย หากส่งไปที่ตำรวจท้องที่แล้ว อาจส่งเรื่องต่อให้ตำรวจ ปอท ในกรณีที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในการตามสืบ
ความผิดกรณีการแอบอ้างเป็นบุคคนอื่น แล้วส่งข้อความเพื่อหลอกยืมเงิน จะมีความผิด เช่น
– ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 (2) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 140,000 บาท
7 วิธีป้องกันง่ายๆ
– วิธีที่ 1 ก่อนตกลงเป็นแฟนกับใครบนโลกออนไลน์ ต้องขอนัดเจอกันก่อนอย่างน้อย 1 ครั้ง
– วิธีที่ 2 เมื่อถูกขอเงินหรือยืมเงิน โดยที่ไม่เคยพบกันมาก่อน ต้องชั่งใจว่าอาจเจอมิจฉาชีพมาหลอกให้รักหรือไม่
– วิธีที่ 3 ต้องมีสติ เหนืออารมณ์ อย่าหลงเชื่อกลลวง และห้ามโอนเงินให้ใครที่เพิ่งรู้จัก
– วิธีที่ 4 อย่าไว้ใจคนแปลกหน้าผ่านทางโลกออนไลน์
– วิธีที่ 5 ตรวจสอบข้อมูลบุคคลให้แน่ชัดว่ามีตัวตนจริงไหม
– วิธีที่ 6 ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัวผ่านทางออนไลน์ กับผู้อื่นเด็ดขาด
– วิธีที่ 7 เข้าไปดูโปรไฟล์ว่ามีข้อมูลน่าเชื่อถือเพียงใด เปิดใช้งานบัญชีโซเชียลมีเดียมานานแล้วหรือไม่
วิธีการป้องกันถูกหลอกยืมเงิน
โทรเช็กกับเพื่อนให้ชัวร์ ว่าต้องการยืมเงินเราจริงหรือเปล่า หากเช็กแล้วไม่ใช่ ให้แจ้งเพื่อนว่าบัญชีไลน์โดนแฮก และให้ตรวจสอบช่องทาง Social Media อื่นๆ ของเพื่อนอาจไม่ปลอดภัย ให้เพื่อนของคุณตรวจสอบด้วย
โดนแฮกไลน์ ยืมเงิน แจ้งความได้ไหม?
หากเผลอโอนเงินไปให้กับมิจฉาชีพแล้ว ให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน รวมถึงข้อความสนทนาดังกล่าวรีบไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และแนะนำให้ไปแจ้งธนาคารทันที เพื่อยังยั้งการโอนเงินไปยังบัญชีม้าอื่นๆ หรือแจ้งหน่วยงานภาครัฐ ศปอส.ตร. โทร. 1155, 1599
อ้างอิง:
– ประมวลกฎหมายอาญา https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=443287&ext=pdf