สื่อเสียงความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Podcast) หมวดความรู้เรื่อง: อาชญากรรมทางเทคโนโลยี รายการ 18 มงกุฏออนไลน์ โดย นที แววจะโปะ
มีโทรศัพท์เข้ามาแจ้งเพื่อหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ ที่ดิน ธนาคาร ตำรวจ สรรพากร บริษัทขนส่ง หรือหลอกว่าจับบุคคลที่เรารู้จักเรียกค่าไถ่ ท่านมีพัสดุตกค้าง โทรศัพท์จะถูกระงับสัญญาณ ท่านมีความเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
เคยเจอกันหรือยัง อยู่ๆ ก็มีเบอร์โทรศัพท์แปลกใหม่ที่เราไม่รู้จัก โทรเข้ามาเบอร์มือถือเราอยู่บ่อยครั้งและเมื่อเรากดรับสาย อีกฝั่งของปลายสายก็จะพูดทายหรือแสดงตัวทันที โดยสร้างเรื่องว่าเราเกี่ยวข้องหรือต้องสงสัยกับการกระทำความผิดรูปแบบต่างๆ เช่น มีพัสดุตกค้าง มีหมายจับ ได้สิทธิลุ้นรับรางวัลโน้นนั่นนี่ มีหมายเรียกจากศาลต่างๆ เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือการพนัน อื่นๆ ที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือหลอกให้โหลดแอบต่างๆ หรือกดลิงก์ โดยให้เราเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัวของเรา หรือหลอกให้โอนเงินในบัญชีให้ไปตรวจสอบ และจะโอนกลับคืน หรือ หลอกขอยืมเงินสำรองจ่ายค่าต่างๆ นานา ทั้งหมดนี้ มิจฉาชีพจะใช้จิตวิทยาให้น่าเชื่อถือมากที่สุดหรือให้เกิดความกังวลว่า เงินในบัญชีของเราจะถูกอายัด หรือ ถูกเข้าไปขโมยเงินในบัญชี และสุดท้ายเรายินยอมให้สิ่งที่มิจฉาชีพต้องการ เพราะคิดว่า มิจฉาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยเหลือเราตามที่ได้แสดงตน

รูปแบบ การแอบอ้าง/หลอกลวง ที่มิจฉาชีพใช้
- มิจฉาชีพโทรมาในรูปแบบโทรศัพท์และอ้างตัวเป็น operator มิจฉาชีพจะพูดหว่านล้อม เพื่อให้เราทำตาม ทั้งการปิดบัญชีเดิม เปิดบัญชีใหม่ และ ส่งข้อมูลหน้าบัญชี และ หมายเลข OTP ให้มิจฉาชีพ มิจฉาชีพจะอำนวยความสะดวกให้เรา ไม่ต้องเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตามที่กล่าวอ้าง
- หลอกหรือแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และมีข้อมูลส่วนตัวเรา โดยใช้วิธีหาซื้อข้อมูลส่วนตัวของคนไทย ที่มีเบอร์โทร ชื่อนามสกุล ที่อยู่ จากตลาดมืดในระบบอินเทอร์เน็ต และจะสุ่มโทรไปหาเหยื่อวันละ 300 คน/วัน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จากต่างประเทศมายังประเทศไทย
- หลอกหรือแอบอ้างเป็นตำรวจสืบสวน โทรมาเพื่อให้ผู้เสียหายแอดไลน์ หรือส่งลิงก์ให้กด เพื่อควบคุมหน้าจอมือมือทำการโอนเงินออกจากบัญชี
- หลอกลวงเป็นศูนย์ดำรงธรรม เปลี่ยนเรื่องร้องเรียนเป็นลวงให้เล่นพนันออนไลน์กลโกงของคนร้าย เช่น ผู้เสียหายต้องการร้องเรียนเรื่องสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า จึงค้นหาจากเว็บไซต์ช่วยค้นหา เจอลิงก์ของศูนย์ดำรงธรรม(ปลอม) จึงกดเข้าไปและถูกดึงเข้าไปคุยต่อในแอพพลิเคชันไลน์ แล้วลวงให้ผู้เสียหายส่งหลักฐานและข้อมูลส่วนตัวผ่านช่องทางแอพพลิเคชัน Telegram จากนั้นแอบอ้างเป็นทนายความอาสา ให้คำแนะนำ พร้อมขู่ให้กลัวว่าเงินของผู้เสียหายถูกส่งไปเกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงิน แล้วคนร้ายส่งต่อให้คนร้ายอีกคนที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจ แนะนำให้ผู้เสียหายเข้ากลุ่มไลน์ผู้เสียหายอื่น(ปลอม) แล้วช่วยกันโน้มน้าวให้ผู้เสียหายลงเงินเล่นเกม เพื่อดึงเงินของผู้เสียหายคืนกลับมา แรกๆ ได้เงินคืน แต่เมื่อผู้เสียหายลงเงินเพื่อเล่นเกมมากขึ้น คนร้ายอ้างความขัดข้องต่างๆ นานา จึงไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หรือลงเงินประกันเพิ่มเพื่อให้ได้เงินออกมา
- หลอกโดยการส่ง SMS จากบริษัทขนส่งพัสดุ ส่งข้อความแจ้งว่า พัสดุของท่านเกิดความเสียหาย กรุณายื่นเคลมรับเงินคืน โดยใช้ข้อความหลอกล่อให้กดลิงก์ภายในข้อความ จากนั้นจะมีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันเพื่อเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ นำไปสู่การดูดเงินเข้าบัญชีม้า
- หลอกให้ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยการส่ง SMS เข้ามือถือของเหยื่อ เมื่อเหยื่อกดลิงก์เข้าไป จะเป็นการให้เพิ่มเพื่อนในไลน์ จากนั้นดำเนินการโทรคุยผ่านไลน์ โดยหลอกให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกรอกข้อมูล และกดยอมรับให้เข้าถึงอุปกรณ์ คนร้ายเข้าควบคุมเครื่อง และโอนเงินออกจากบัญชี
- หลอกลวงโดยการโทรแล้วแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร หลอกให้กดลิงก์เพื่อจ่ายภาษีหรือได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีหรือเก็บภาษีย้อนหลัง
รูปแบบกลโกงที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีรูปแบบอื่นๆ และรูปแบบใหม่ๆ ของมิจฉาชีพอีกหลากหลายรูปแบบ และมีการทำเป็นกระบวนการเพื่อพยายามทำให้เหยื่อหลงเชื่อ ในส่วนของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341-343 ก็มีบทลงโทษ เพื่อให้ผู้ที่หลอกลวงรับผิดในการกระทำ เพราะเกิดความเสียหายต่างๆ เช่น
- ฉ้อโกงประชาชนด้วยการจงใจหลอกประชาชนทั่วไป โดยแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริงเพื่อเอาทรัพย์สินคนอื่น จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงเป็นคนอื่น(ด้วยการจงใจหลอกประชาชนทั่วไป) มีโทษ จำคุก 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับ 10,000 – 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น(จงใจหลอกแค่คนเดียว) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การกำหนดโทษแก่ผู้ที่หลอกลวงนั้นต้องครบองค์ประกอบตามหลักกฎหมาย ผู้เสียหายเมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอกต้องรีบดำเนินการแจ้งความกับตำรวจเร็วที่สุดหรือตามหลักกฎหมายให้แจ้งความดำเนินคดี ภายในเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่ทราบเรื่องและรู้ตัวผู้ทำผิด เพื่อให้จับกุมผู้หลอกลวงมารับโทษตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น ประชาชนทั่วไปต้องรู้ทันว่ากำลังโดนหลอกจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ หากมีการเรียกให้ชำระเงินใดๆ หรือขอข้อมูลส่วนตัว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ อย่าทำตามที่เขาต้องการเด็ดขาด
วิธีรับมือและการป้องกัน
- วิธีที่ 1 อย่ากดลิงก์ อย่าแอดไลน์ อย่าบอก OTP หรือโหลดแอพพลิเคชัน ที่ส่งจากคนที่ไม่รู้จัก
- วิธีที่ 2 ตั้งสติ วางสาย โทรกลับเบอร์ที่คนร้ายโทรมา (หากไม่มีผู้รับสาย แสดงว่าเป็นคนร้าย) หรือขอเบอร์หน่วยงาน แล้วโทรกลับเอง
- วิธีที่ 3 ถ้ามีเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยโทรเข้ามาหา ให้ตรวจสอบทางเว็บหรือแอพพลิเคชันสำหรับตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ก่อนรับสาย
- วิธีที่ 4 ถ้ามี SMS แปลก ๆ ให้โทรกลับไปตรวจสอบที่สายด่วน หรือเบอร์ของหน่วยงานนั้นๆ ตำรวจไม่มีการให้โอนเงินไปตรวจสอบ หรือให้ติดตั้งแอพพลิเคชันของสถานีตำรวจ
- วิธีที่ 5 กรณีได้รับ SMS ที่ผิดปกติ ควรตรวจสอบกับ Call Center ของหน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง
- วิธีที่ 6 ติดตั้งแอพพลิเคชันที่ช่วยเช็คเบอร์มิจฉาชีพ บล็อกเบอร์ บล็อก SMS
1) แอพพลิเคชัน WhosCall(Android และ ios) สามารถระบุตัวตนผู้โทรยอดนิยมและเป็นที่รู้จักได้ ช่วยให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงการตอบรับสายจากเบอร์แปลกปลอมหรือเบอร์โทรที่น่าสงสัยได้ หากมีผู้โทรเข้ามาไม่อยู่ในฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ แอพพลิเคชันจะแสดงผลว่า “ไม่ทราบชื่อ” หรือ “ไม่ทราบที่อยู่”
2) แอพพลิเคชัน Truecaller(Android) เป็นแอพพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้ระบุตัวตนของเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องบันทึกเบอร์นั้นไว้ในสมุดโทรศัพท์ โดยจะรวมเบอร์โทรที่ผู้ใช้ทั่วโลกร่วมกันแชร์เข้ามาในการระบุตัวตน และจะบล็อกเบอร์โทรที่ไม่ต้องการ และรายงานเบอร์สแปมหรือเบอร์หลอกลวงได้อีกด้วย
อ้างอิง: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341-343